ธปท.ชี้ระบบแบงก์แกร่ง มาตรการช่วยลูกหนี้ กดหนี้เสียต่ำเท่าก่อนโควิด-19
ธปท. คาด หนี้เสีย จ่อปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าช่วยลูกหนี้ ส่วนผลดำเนินงานแบงก์ทั้งระบบปี 64 แข็งแกร่ง "เงินกองทุน - สำรองแน่นปึก”
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 โดยรวม ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง สะท้อนจากเงินกองทุน เงินสำรอง ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง และสภาพคล่องในระบบที่อยู่ในระดับสูง
โดยภาพรวมเงินกองทุนทั้งระบบอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ที่ 19.9% ขณะที่เงินสำรองอยู่ระดับสูงที่ 8.8 แสนล้านบาท ส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียอยู่ที่ 162.6 % สะท้อนการสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากวิกฤติโควิด-19
สำหรับภาพรวมสินเชื่อโดยรวมขยายตัวได้ดี ที่ 6.5% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 5.1% จากการที่ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกหลักในการส่งผ่านสินเชื่อลงสู่ระบบ ทำให้ภาพรวมสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นกว่าหลายประเทศแม้จะเจอผลกระทบจากโควิด-19
โดยการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นทั้งธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอี โดยธุรกิจรายใหญ่เติบโต 12.8% ขณะที่เอสเอ็มอีเติบโตได้ 2.1% หลักๆ มาจากผลบวกของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู แต่หากเอาผลของสินเชื่อฟื้นฟูออก สินเชื่อจะติดลบอยู่ที่ 0.4%
สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ล่าสุดปรับลดลง ทั้งมูลค่าหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อ โดยอยู่ที่ 2.98% หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 5.3 แสนล้านบาท ลดลงไปเทียบเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้วเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์มีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ ส่งผลให้หนี้เสียปรับลดลง
ส่วนแนวโน้มหนี้เสียในระยะข้างหน้า ยอมรับว่าบางทีอาจเห็นการทยอยปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันได้ เพราะต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้หนัก และมีความไม่แน่นอนมากขึ้น บวกกับการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมของแต่ละกลุ่ม ที่อาจส่งผลให้ลูกหนี้บางกลุ่มกลับมาเป็นหนี้เสียได้
โดยเฉพาะกลุ่มที่ปิดกิจการไปแล้ว ดังนั้น ธปท.จึงมีการให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้แบงก์มีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง และใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงของลูกหนี้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
สำหรับภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 โดยมีกำไรอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนที่ 23.6% ส่วนแนวโน้มปี 2565 ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวเศรษฐกิจสำคัญ แต่มีปัจจัยบวกที่หนุนการดำเนินธุรกิจของระบบธนาคารคือ ขณะที่ปี 2565 เชื่อว่ายังมีปัจจัยบวก จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ผลกระทบมีค่อนข้างน้อย และแบงก์มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ความคืบหน้าของสินเชื่อฟื้นฟู ล่าสุดปล่อยไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 60% ของวงเงินรวมที่ 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ปัจจุบันมียอดการช่วยเหลืออยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับการเปิดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี เพื่อบริหารหนี้เสียได้นั้น ปัจจุบันเริ่มมีธนาคารพาณิชย์ และเอเอ็มซีมีการเข้ามาหารือ ธปท.แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับผู้ร่วมทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ก่อนจะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนอย่างเป็นทางการต่อไป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์