‘สภาพัฒน์’ เผยหนี้ครัวเรือนไทย 89.3% จับตายอดซื้อรถ – บ้าน ดันยอดหนี้เพิ่ม
สศช.เผยหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีลดลงเล็กน้อย อยู่ระดับ 89.3% ของจีดีพี จับตาไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากการซื้อรถยนต์ และบ้านในช่วงปลายปีก่อน หลังงานมอเตอร์โชว์มีการจองรถเพิ่มกว่า 3 หมื่นคัน ขณะที่การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น อัตราว่างงานต่ำสุดนับตั้งแต่โควิด-19
นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4/2564 พบว่าระดับหนี้สินครัวเรือนในไตรสามปี 2564 อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 90.6% ของจีดีพี
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิด NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือ สินเชื่อค้างชําระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ระยะถัดไปหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก
1.ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 เกินเป้าหมายที่ 30,000 คัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และ
2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องให้ความสำคัญกับ
1.การเร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
2.การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป
และ3.การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน
ส่วนสถานการณ์แรงงานไตรมาสสี่ ปี 2564 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2563 สำหรับภาพรวมปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน
สถานการณ์แรงงานไตรมาส4 ปี 2564 พบว่าการว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจาก ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลง1.% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการลดลงของกำลังแรงงาน ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% รวมถึงปีก่อนหน้าที่ 98.0% สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น การจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 12.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3% จากการเลื่อนการเพาะปลูกจากไตรมาสสามที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมาเป็นไตรมาสปัจจุบัน และแรงจูงใจจากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น นอกภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 25.3 ล้านคน ลดลง 2.1% จากการลดลงของการจ้างงานในสาขากิจการโรงแรมและบริการอาหารซึ่งลดลง 7.9% ส่วนสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานลดลง 6.9%
รวมทั้ง สาขาการผลิต ที่การจ้างงานลดลง 1.2% โดยเป็นการลดลงในสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างรุนแรง ขณะที่สาขาที่ยังส่งออกได้ดีมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวนทั้งสิน 4.4 แสนคน ลดลง 14.1% และผู้เสมือนว่างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 3.2 ล้านคน
โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2563 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน เป็นการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ที่ลดลง 21.7% ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น4.1%
โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานจบใหม่ทั้งหมด การว่างงานในระบบปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ 2.27% ลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน