ทำไม? “SWIFT” ถึงเป็นตัวการที่อาจทำให้ “รัสเซีย” ต้องถอยทัพ!
สหรัฐ-ชาติตะวันตกเดินหน้ามาตรการคว่ำบาตร ถอดสถาบันการเงิน "รัสเซีย" ออกจาก "SWIFT" สร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจและภาคการเงินของรัสเซีย จนอาจนำมาสู่การถอยทัพในที่สุด
วันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ก.พ.) สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตก ได้มีความเห็นพ้องและตกลงให้มีการขับธนาคารสัญชาติรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจาก “สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก” (Society for Worldwide Financial Interbank Telecommunication) หรือ “SWIFT” เพื่อตอบโต้การเข้ารุกรานยูเครนของรัสเซีย
มาตรการทางการเงินของสหรัฐและชาติตะวันตกที่ขับธนาคารของรัสเซียออกจาก SWIFT ในครั้งนี้ นับเป็นการตอบโต้ที่จริงจังและรุนแรงถึงขั้นที่อาจจะทำให้รัสเซียต้อง “ถอยทัพ” จากการถูกตัดขาดจากระบบการเงินโลก ซึ่งจะมีผลให้ภาคเศรษฐกิจและการเงินของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียอาจหดตัวลงถึง 5%
บางคนอาจสงสัยว่า มาตรการดังกล่าวรุนแรงจนถึงขั้นสามารถสร้างผลกระทบกับประเทศที่ถูกถอดออกได้ขนาดนั้นเลยหรือ?
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงจะพาไปทำเข้าใจว่า “SWIFT” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงอาจทำให้รัสเซียต้องถอยทัพ
- “SWIFT” คืออะไร?
เคยสงสัยกันไหมว่า ถ้าเราอยากโอนเงินให้ใครสักคนที่อยู่ในต่างประเทศ เราต้องทำอย่างไร?
โดยปกติ เวลาเราอยากโอนเงินภายในประเทศ เราก็จะแค่เดินไปที่สาขาธนาคาร ตู้ATM หรือใช้โมบายแบงกิ้ง แต่พอเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งบัญชีดังกล่าวไม่มีสาขาธนาคารในประเทศที่เราอยู่ แล้วเราจะสามารถโอนเงินได้อย่างไร สามารถทำได้หรือไม่
จากคำถามข้างต้น คำตอบคือ สามารถทำได้ โดยตัวช่วยที่ทำให้การโอนเงินหรือธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสามารถเกิดขึ้นได้ด้วย “SWIFT”
SWIFT คือ ระบบการชำระเงินระดับโลก ครอบคลุมสถาบันการเงิน 11,000 แห่งจาก 200 ประเทศทั่วโลก โดยทำงานด้วยการส่งข้อความผ่านรหัส SWIFT หรือ “SWIFT CODE” ซึ่งจะเป็นตัวบอกถึงรายละเอียดของสถาบันการเงินที่อยู่ในเครือข่าย SWIFT
SWIFT CODE มี 8-11 ตัว โดย 4 ตัวแรกจะเป็น รหัสของสถาบันการเงิน 2 ตัวถัดมาคือ รหัสประเทศ และ 2 ตัวถัดมาอีก คือ รหัสพื้นที่ สำหรับ 3 หลักสุดท้าย อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ที่มี คือมีเพื่อระบุถึงสาขาที่เฉพาะในพื้นที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ ประเทศไทย มี SWIFT CODE เป็น KRTHTHBK, BKKBTHBK และ AYUDTHBK
ดังนั้น หากจะโอนเงินหรือชำระค่าสินค้าและบริการที่บัญชีผู้รับอยู่ต่างประเทศ เราจึงสามารถติดต่อไปที่ธนาคารที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ แล้วทำธุรกรรมได้ด้วยข้อมูลของบัญชีและ SWIFT CODE ของธนาคารปลายทาง โดยการทำงานของ SWIFT เสมือนเป็นการส่งข้อความตามปกติ แต่จะเป็นข้อความที่แสดงคำสั่งด้านธุรกรรมทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า ข้อความ SWIFT
เมื่อธนาคารปลายทางได้รับข้อความแล้ว ก็จะนำเงินใส่เข้าไปในบัญชีปลายทางตามคำสั่ง อย่างไรก็ตาม SWIFT เป็นเพียงระบบการรับส่งข้อความที่เป็นคำสั่งด้านธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ไม่ได้เป็นตัวรับส่งเงินหรือหลักทรัพย์อื่นแต่อย่างใด
- “SWIFT” สำคัญกับรัสเซียขนาดไหน เหตุใดรัสเซียจึงอาจต้องถอยทัพ
SWIFT เป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ถูกยอมรับ และใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยสถาบันการเงินต่างๆ ใช้เครือข่าย SWIFT เพื่อรับส่งข้อมูลและคำสั่งอย่างปลอดภัยของธุรกรรมทางการเงิน ผ่านระบบที่เป็นมาตรฐาน
การที่ธนาคารสัญชาติรัสเซียถูกขับออกจากเครือข่าย SWIFT จึงเท่ากับว่าธนาคารเหล่านั้นจะไม่สามารถรับส่งคำสั่งธุรกรรมระหว่างประเทศ หรือพูดง่ายๆ ว่า ชาวรัสเซียจะไม่สามารถทำธุรกรรมกับต่างประเทศได้เลย
ทำให้ธุรกิจในรัสเซียต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก นำมาซึ่งผลเสียทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้น ประเทศคู่ค้าของรัสเซียก็จะได้รับผลเสียทางเศรษฐกิจตามไปด้วย ผลเสียดังกล่าวจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกับรัสเซีย แต่อาจขยายวงกว้างและชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
แม้ว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา แต่กระทำเช่นนี้จะเป็นส่วนช่วยให้ความแข็งแกร่งของรัสเซียและกองทัพรัสเซียถดถอยลง นอกจากนี้ ยังทำให้การเมืองภายในเกิดความปั่นป่วนจากการถูกตัดขาดกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระดับโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวรัสเซียเข้าคิวต่อแถวรอถอนเงินจากธนาคารในประเทศ
เหตุการณ์ข้างต้น อาจมีผลให้ธนาคารขาดสภาพคล่องรุนแรงและล้มลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียในที่สุด โดยมีคาดการณ์ว่าอาจหดตัวลงถึง 5% นอกจากนี้ ยังมีผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากทั้งความต้องการเทขายของนักลงทุนในประเทศและต่างชาติ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นนี้อาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้ความแข็งแกร่งของกองทัพรัสเซียนั้นลดลง เนื่องจากความอ่อนแอภายในของรัสเซียเอง อย่างไรก็ตาม ในวานนี้ (28 ก.พ.) ธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 10.5% เพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินรูเบิลที่ร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือกว่า 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์
ดังนั้น ประชาคมโลกจึงอาจต้องคอยติดตามท่าทีของรัสเซียต่อไป และยังไม่อาจสรุปอย่างแน่ชัดได้ว่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่
-------------------------------
อ้างอิง