ศาสตร์ ปลดล็อกความไม่รู้ สร้างโอกาสธุรกิจในโลกที่ท้าทาย
โลกใหม่ที่ไม่รู้จัก ความท้าทายนักการตลาดให้อ่านเกม คิด วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตให้ออกว่าเทรนด์ ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อวางกลยุทธ์การตลาดเจาะใจผู้บริโภค แต่เมื่อความไม่รู้-The Unknow เป็นกำแพงใหญ่ ต้องหาทางปลดล็อก! ศาสตร์ไหนดี สมาคมการตลาดฯชวนกูรูชี้แนะ
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานวันนักการตลาดหรือ Thailand Marketing Day ซึ่งปี 2565 มาในธีม “Marketing the Unknown” โดยนักการตลาดให้มุมมองถึงการขับเคลื่อนธุรกิจ ค้าขาย วางกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับ “โลกใหม่ที่ไม่รู้จัก” มากขึ้น จากหลากเหตุการณ์ทั้งโรคโควิด-19 ระบาด กินเวลานนานกว่า 2 ปี ล่าสุดต้องรับมือกับความไม่รู้ครั้งใหม่และสะเทือนโลกจากความขัดแย้งของ “รัสเซีย VS ยูเครน”
อนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ที่ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจและนักการตลาดเผชิญความเครียดและสับสนกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีความผันผวนเกิดขึ้นมากมาย ความไม่ชัดเจนรอบด้าน รวมถึงปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นและแรงมาก จนเกิดเป็นโลกที่ไม่เคยรู้จัก กลายเป็นอุปสรรคให้เกิดความไม่เข้าใจมากมาย
แม้โลกจะเต็มไปด้วยปัจจัยที่ยากจะคาดการณ์และ “ความไม่รู้” หรือ The Unknow มากมาย แต่ธุรกิจและนักการตลาดต้องหาทางปลดล็อกสิ่งที่ไม่รู้ ด้วยการเรียนรู้มากขึ้น และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์
ทั้งนี้ จากการระดมความเห็นของบรรดาแม่ทัพธุรกิจหรือซีอีโอ ตลอดจนนักการตลาดหรือซีเอ็มโอ ได้สรุปศาสตร์(ไม่)ลับ เพื่อรับมือกับ Marketing the Unknow ต้องใช้หัวใจหรือ H.E.A.R.T. มาช่วยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่
เริ่มจาก Humanize เป็นเวลาที่แบรนด์ต้องมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่มีความเป็นมนุษย์ มีจิตสำนึก เข้าใจ มีความโปร่งใส ซึ่งหากแบรนด์ทะลวงโจทย์เหล่านี้ได้ สร้างความจริงใจจะสามารถก้าวไปอยู่ในใจของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ตามด้วย ESG & Sustainability เมื่อการเมืองโลก โรคระบาด สถานการณ์สังคม เศรษฐกิจการค้า การพัฒนาของเทคโนโลยี ฯ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่แน่นอน แต่มีสิ่งหนึ่งที่รู้และเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ “โลกอยู่ในภาวะถดถอย” และต้องการเยียวยา นานาประเทศจึงยกประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจการตลาดมากขึ้น เพื่อสร้างผลบวกทั้งด้าน “กำไร”(Profit) ผู้คน(People) และโลก(Planet) ไปพร้อมๆกัน
บริบททางธุรกิจ การแข่งขัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ทำให้ นักการตลาดต้อง มีเพิ่มความคล่องตัวทุกมิติ หรือ Agile ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กร วิธีการคิด(Mindset) และการตลาดต้องมีกลยุทธ์ แผนงานที่ยืดหยุ่น มีแผนสำรองหลากหลายรับทุกสถานการณ์
ที่ผ่านมาธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง แต่เมื่อล้มแล้วต้องลุกเร็ว และเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีความยืดหยุ่นหรือ Resilience โดยองค์กรต้องเปิดให้คนทำงานลองผิดลองถูก กล้าเปลี่ยนเพื่ออยู่รอด ให้คนมี growth mindset ที่ขาดไม่ได้ในยุคดิจิทัลคือการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transformation ขยับเข้าสู่โลกใหม่ๆในดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โลกเสมือนจริง(เมตาเวิร์ส) เพื่อสร้างโอกาสให้เหมาะกับธุรกิจ
อนุวัตร เฉลิมไชย-มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
“วันนี้ความไม่รู้เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่มุมนักกาารตลาด สิ่งที่ไม่รู้และต้องหาทางรู้ให้ได้ คือเรื่องเทคโนโลยี เพราะเทรนด์ในอนาคตทรงอิทธิพลต่อการทำตลาดอย่างมาก แต่ตอนนี้กลายเป็นหลายเรื่องเราไม่รู้ และยากลำบากในการทำให้รู้ บางเรื่องยิ่งฟังยิ่งงง ทั้งเมตาเวิร์ส เว็บ 3.0 สินทรัพย์ดิจิทัล ต้องรู้จัก เข้าใจ เข้าไปลอง เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจ”
ด้านสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนักการตลาดไม่จำเป็นต้องรู้ 100% แต่เมื่อจับธุรกิจใดควรรู้สิ่งที่จะทำ 60-70% ส่วนอีก 30-40% สามารถเรียนรู้ระหว่างทางได้ หากเกิดอุปสรรคควรแก้ไขทันที
นอกจากนี้ ต้องโฟกัสเป้าหมายให้แน่วแน่ เพื่อกำหนดทิศทาง วางแผนการทำงานภายใต้ปัจจัยที่ควบคุมได้ รวมถึงการปรับวิธีการคิด หากล้มแล้วต้องลุกเร็ว ที่สำคัญคือการเกาะติดเทรนด์ให้ไม่ตกขบวน เพื่อให้ธุรกิจที่ทำตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เช่น การออกเหรียญป๊อปคอยน์ รับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลมาแรง การรุกตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ ตอบสนองผู้บริโภคไทยและเป็นแนวโน้มตลาดโลกที่เติบโตสูง เป็นต้น
“เราเปลี่นยมุมมองแทนที่จะนั่งหาข้อมูลให้รู้มากสุด ควรสนใจเรื่องที่เรารู้ก่อน อย่าเสียเวลาตามหาสิ่งที่ไม่รู้ เพราะโลกธุรกิจวันนี้เปลี่ยนเร็ว สิ่งที่รู้ในอดีต ปัจจุบันเพียง 1เดือน หรือ 1 สัปดาห์ ก็เปลี่ยนแล้ว ทำให้การวางแผนธุรกิจของอาร์เอส ยึดหลักจากเรื่องที่เรารู้ มีเทรนด์ใหญ่อะไรเกิดขึ้นหากสามารถอยู่ในเทรนด์ที่ถูกต้อง ธุรกิจจะไม่หลงทางแน่นอน”
นอกจากนี้ การทำตลาดยุคปัจจุบัน องค์กรต้องมีความเคลื่อนตัวเร็ว(Agile)มากขึ้น ซึ่งอาร์เอสปรับตัวเร็ว ทีมงานตื่นตัว โครงสร้างธุรกิจกระชับขึ้น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทีมงานยังต้องมีความกล้าทำสิ่งต่างๆ การทำงานแบบถึงลูกถึงคน รู้จักการจัดการหน้างานโดยใช้ “ข้อมูล” ให้เกิดประโยชน์ เพราะสิ่งที่ไม่รู้มักเกิดเร็วในสนามธุรกิจ
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองการทำตลาดในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ มี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.แบรนด์สินค้าและบริการต้องยึด “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” หรือ Customer Centric หาความต้องการ ตีโจทย์ปัญหา(Pain point) ที่ผู้บริโภคเจอ แล้วตอบสนองให้ตรงใจ บริษัทจึงมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ฟีเจอร์ใหม่ๆบนแพลตฟอร์มต่างๆ เอื้อให้ลูกค้าใช้งานสะดวกสบาย มีประโยชน์มากขึ้น และ 2.กล้าทำ กล้าลองสิ่งใหม่ ไม่มัวแต่คิดค้นหาสิ่งที่รู้ หากเป็นเช่นนั้นอาจไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
นอกจากนี้ การปรับตัวเอง จนถึงการกลายพันธุ์ทางธุรกิจรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด องค์กรธุรกิจ ทุกภาคส่วนตื่นตัวในการทรานส์ฟอร์มอย่างมาก และเป็นเรื่องแรกที่ต่างให้ความสำคัญหลังจากเป็นประเด็นสนใจมานาน ขณะเดียวกันคนทำงานยังเพิ่มทักษะต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลด้วย