น้ำมันดิบพุ่งเกือบ 120 ดอลลาร์ "พลังงาน" วอนคนไทยช่วยกันประหยัดน้ำมัน
น้ำมันดิบพุ่งเกือบ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล “พลังงาน” ระบุกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเงินอุดหนุนที่ 4.80 บาทต่อลิตร พยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร พร้อมเร่งสื่อสารประชาชนช่วยประหยัดพลังงานเพื่อพยุงเงินในกระเป๋า
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” วันที่ 4 มีนาคม 2565 ว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบขยับมาใกล้เคียง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว โดยวันที่ 3 มีนาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบปิดตลาดอยู่ที่ 116 ดอลลาร์ต่อวัน เพิ่มขึ้นครั้ง 17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งขณะนี้เท่าที่ดูหลายสำนักราคา 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลดูเหมือนจะเป็นพื้นฐานที่ตั้งไว้ เพราะประเทศรัสเซียมุมพลังงานโลกการผลิตน้ำมันอยู่ราว 10% ของกำลังผลิตในโลก กำลังผลิตวันละ 10-11 ล้านบาร์เรล ส่งออกราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่มีความสำคัญมากพอสมควร
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้คว่ำบาตรโดยตรงด้านพลังงาน แต่เป็นการคว่ำบาตรด้านการเงิน ฯลฯ แต่การรับซื้อน้ำมันจากรัสเซียจะหาผู้ซื้อยากขึ้น ผู้ซื้อหลีกเลี่ยงน้ำมันจากรัสเซีย แม้กระแสข่าวต่างประเทศว่ารัสเซียได้ทำส่วนลดการขายที่ 20% แต่ก็ยังจะหาผู้ซื้อได้ลำบาก ผู้ใช้น้ำมันในยุโรปเริ่มหาน้ำมันในตะวันออกกลาง ทำให้ตลาดมีความตรึงตัวมากขึ้น
อีกทั้ง กลุ่มโอเปก พลัส ระบุว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ทำไม่ได้ตามเป้า ตลาดค่อนข้างตื่นตัวเป็นอย่างมา และอีกความเคลื่อนไหว 37 ประเทศที่รวมตัวเป็นองค์การพลังงานระหว่างประเทศ ประกาศจะนำน้ำมันฉุกเฉินในคลังสำรองออกมาจำนวน 60 ล้านบาร์เรลออกมาในตลาดโลกเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหารัสเซียและยูเครนนั้น จากบทวิเคราะห์ต่างประเทศและสะท้อนมาจากราคาน้ำมันมองว่าไม่เพียงพอ อาจจะทดแทนได้ประมาณหนึ่ง สหรัฐฯ จะปล่อยมา 30 ล้านบาร์เรลก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
ทั้งนี้ ตลาดน้ำมันตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากปัจจัยพื้นฐานตลาดเอง อาทิ กลุ่มโอเปก พลัส กลับมาเพิ่มกำลังผลิตไม่ทันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พอมีเหตุการณ์รัสเซียที่กระทบมาอีก
สำหรับการรับมือต่างๆ อาทิ เตรียมสภาพคล่องของการเงินกู้ และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 กองทุนน้ำมันฯ ได้ปรับอัตราเงินอุดหนุนชดเชยน้ำมันดีเซลที่ก่อนหน้านี้อุดหนุนไว้ราว 2.30 บาทต่อลิตร มาเป็น 4.08 บาทต่อลิตร โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ จะทอนออกมาอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นหน้าปั๊มคร่าวๆ อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะต้องปรับเงินอุดหนุนเข้าไปช่วยมากขึ้น
“มาตรการต่างๆ จะช่วยเหลือในระดับหนึ่ง ซึ่งแผนนโยบายกระทรวง รวมถึงกองทุนน้ำมันฯ ได้ประเมิณสถานการณ์ในภาคต่างๆ ซึ่งการประหยัดพลังงานก็เป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง กระทรวงฯ ต้องเร่งบอกกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้สถานการณ์ให้มากขึ้น สื่อสารให้หันมาประหยัดและช่วยค่าใช้จ่ายให้กับตัวเองนอกเหนือจากภาครัฐช่วยในเรื่องของการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไปแล้ว”