เปิด 3 เหตุผล ทำไม “พลังงาน” ต้องตรึงราคาดีเซล 30 บาท
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐบาลจะต้องมุ่งเป้าหมายช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล และไม่พยายามช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินเลย วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะมาเปิด 3 เหตุผลหลักเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว
ด้วยราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มีความผันผวนปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา และกระทบถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศทุกชนิดที่ขยับเพิ่มขึ้นตาม แต่สำหรับน้ำมันดีเซล ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาไว้ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
อีกทั้ง จากเศรษฐกิจฟื้น ความต้องการใพลังงานและความคลี่คลายปัญหาโควิด-19 ผนวกกับปัญหาความตรึงเครียดทางการเมืองระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ยิ่งซ้ำเติมราคาน้ำมันดิบให้พุ่งขึ้นทะลุกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการรับมือราคาพลังงานที่พุ่ง ไม่หยุด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนโยบาย ได้หารืออย่างเคร่งเครียดเพื่อติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะมาตรการคงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนี้ ยังคงมาตรการนี้อยู่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามกรอบเป้าหมายเดิม
ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาวางแนวทางบริหารราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3บาทต่อลิตร
ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีผลทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมจัดเก็บ 5.99 บาทต่อลิตร ปรับเป็น 3.20 บาทต่อลิตร หรือลดลง 2.79 บาทต่อลิตร ช่วยลดภาระค่าน้ำมันดีเซลให้กับประชาชน 2 บาทต่อลิตรทันที ได้ต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอยู่ในช่วงขาขึ้น
"กระทรวงพลังงานยังคงมาตรการตรึงราคาพลังงานพร้อมประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพราะสถานการน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างรวดเร็ว กองทุนน้ำมันฯ เดินเรื่องขอกู้เงินเพื่อให้เข้ามาช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตอยู่ในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องดูความเหมาะสมต่อไป"
สำหรับราคาน้ำมันที่ดูเหมือนจะเป็นจุดสูงสุดในรอบนี้ หากจะดูไว้กว้างๆ ตามบทวิเคราะห์จะอยู่ที่ราว 115-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งขณะนี้ยังผันผวนจึงต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สามารถเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์นี้ ทั้งปัจจัยต่อเนื่องพื้นฐานของจำนวนดีมานด์ และซัพพลาย ซึ่งโอเปก พลัสก็ยังงไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด เหตุการณ์ไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนอีก ซึ่งกระทรวงพลังงานทำงานหนักและเร่งมาตรการออกมาต้องคอยติดตาม
ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม LPG ภาคครัวเรือน ถือเป็นอีกตัวหนึ่งที่พลังงานกำลังหามาตรการ โดยมติกบน.เดิมจะตรึงราคาถึงสิ้นเดือนมี.ค.2565 และทิศทางต่อไปจะบริกหารอย่าวไร ตอนนี้เงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นผู้ดูแล จะต้องดูอีกครั้งเพื่อประโยชน์ประชาชน
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อธิบายเหตุผลถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. น้ำมันดีเซล ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน หากต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ภาระก็จะตกมาอยู่กับประชาชน
2. น้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ทั้งรถบรรทุกสินค้า และรถโดยสาร มีผลให้ต้นทุนสินค้าและการเดินทางเพิ่มขึ้น
3. หากน้ำมันดีเซลมีราคาสูง จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศ 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายในกลุ่มน้ำมันดีเซล เดือนละประมาณ 5,500–6,000 ล้านบาทต่อเดือน
บวกกับรายจ่ายค่าก๊าซ LPG ราว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้ติดลบกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในช่วงวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้อย่างต่อเนื่อง