ชงร้อนไม่สะดวก "เนสวิต้า" แตกไลน์สินค้าเสิร์ฟธัญพืชพร้อมดื่ม
เนสท์เล่ (ไทย) เดินหน้าวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อทำตลาดครั้งแรกในไทย จาก "ไมโล นมถั่วเหลือง" ถึงคิว "เนสวิต้า ซีเรียล ดริ้งค์” เขย่าตลาดเครื่องดื่มธัญพืช แม้ตลาดเล็กแต่พริกขี้หนู เพราะโตเร็ว จากผู้เล่น-เซ็กเมนต์ใหม่
เมื่อ “แพลนท์เบส” กลายเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกธุรกิจอาหาร ทำให้แบรนด์ต่างไม่พลาดโอกาสในการเข้าไปคว้าขุมทรัพย์ และการออกตัวก่อนหรือเป็น First mover การสะท้อนถึงทิศทางการตลาดที่เคลื่อนตัวเร็ว อาจได้แต้มต่อของการสร้างฐานตลาดและกลุ่มเป้าหมาย
“เนสท์เล่” ถือเป็นยักษ์ใหญ่อาหารระดับโลก ที่เดินหน้าเรื่องแพลนท์เบสอย่างจริงจัง ออกสินค้าใหม่ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ก่อนหน้านี้คือการเปิดตัว “ไมโล นมถั่วเหลืองยูเอชที” เข้าทำตลาด หวังแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดนมถั่วเหลืองที่มีมูลค่า 13,500 ล้านบาท
ล่าสุด เป็นคิวของ “เนสวิต้า” ที่พยายามหาช่องว่างตลาด เพื่อแทรกเข้าไปอยู่ในมื้อการบริโภคของคนไทย
“เนสวิต้า” เป็นเครื่องดื่มชงร้อน ที่ทำตลาดมายาวนาน 25 ปี แต่กลยุทธ์ใหม่ คือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์พร้อมดื่ม(RTD: ready to Drink) ซึ่งใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการคิดสร้างสรรค์สินค้าดังกล่าว และไทยยังเป็นประเทศแรกที่มีเครื่องดื่ม เนสวิต้า ซีเรียล ดริ้งค์ ด้วย กลยุทธ์ดังกล่าว เรียกว่าสอดคล้องกับ ไมไล นมถั่วเหลือง ที่เปิดตัวในไทยแห่งแรกของโลก
ไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ฉายภาพถึงวิสัยทัศน์ของเนท์เล่ มุ่งสร้างสรรค์สินค้าดี ตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค จึงมีการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง
ทว่า โจทย์การออกสินค้าแต่ละปีไม่เหมือนเดิม เพราะเทรนด์ตลาดและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ต้องคิดค้นสิ่งใหม่ให้ตรงกับความต้องการตลาด ขณะเดียวกัน การทำตลาดจะดู “จุดแข็ง” ภายในองค์กรอย่างเดียวไม่ได้ อะไรที่เป็น “จุดด้อย” ต้องหาทางปิดและเสริมแกร่งยิ่งขึ้น
“เนสวิต้า” เป็นเครื่องดื่มชงร้อน นั่นคือจุดแข็ง และพฤติกรรมการบริโภคส่วนใหญ่ดื่มเป็น “มื้อเช้า” หรือ “รองท้อง” ก่อนออกจากบ้าน ไปทำงาน หรือรองท้องระหว่างวัน สะท้อนถึง Occasion หรือโอกาสในการบริโภคนั้นมีค่อนข้างน้อย
“เมื่อเป็นเครื่องดื่มชงร้อน จึงมีข้อจำกัด คือต้องมีน้ำร้อน มีแก้ว จึงเห็นช่องว่างในการนำเสนอสินค้าทางเลือก พอเป็น RTD เนสวิต้า ยังตอบสนองผู้บริโภคสเตทเดียวกัน คือรองท้องจากเครื่องดื่มธัญพืช และตอบไลฟ์สไตล์รักสะดวกด้วย เพราะพกพาไปได้ทุกที่หรือ on the go”
เพราะการทำธุรกิจ เป้าหมายคือการสร้างยอดขาย ชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และ “กำไร” เมื่อมาดูตลาดหลักที่เนสวีต้าอยู่ เครื่องดื่มชงร้อนมีมูลค่าราว 900 ล้านบาทเท่านั้น แม้จะเติบโต 4% ในปีก่อน แต่ในมิติการค้าขายมานาน 25 ปี จะโตต่อ ต้องแตกไลน์สู่หมวดใหม่ๆ เพราะตลาดเดิมจะโตต่อยาก ยิ่ง “เนสวิต้า” มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมากอันดับ 1 ในสัดส่วนถึง 70% ต่อให้ได้มาทั้งตลาด ก็เป็นเม็ดเงินหลักร้อนยล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่การขยายสู่หมวดใหม่ เครื่องดื่มธัญพืชพร้อมดื่มมีมูลค่า 900 ล้านบาท หรือไซส์ใหญ่อีก “เท่าตัว” ในการเข้าไปแย่งชิงเม็ดเงิน อีกทั้งตลาดดังกล่าว เพิ่งบูมไม่นาน เมื่อมีน้ำนมอัลมอนด์ น้ำนมข้าวโพด หรือที่เนสวิต้า ท้าชิง คือธัญพืชจากข้าวโอ๊ต และมาพร้อม 2 รสชาติ ได้แก่ รสดั้งเดิม และรสโกจิเบอร์รี่ การเปิดหมวดหมู่ใหม่ๆ จึงคาดว่าปลุกตลาดให้ใหญ่ได้
“ตลาดเครื่องดื่มธัญพืชแม้จะมีขนาดเล็ก แต่เป็นตลาดที่เติบโตเร็วพอสมควร เพราะมีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามา และเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ๆเพิ่ม”
ตลาดเล็กแต่เป็น “โอกาส” และด้วยศักดิ์ศรีแบรนด์ระดับโลก จึงทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดแบบครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมดึงเต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ แบรนด์แอมบาสเดอร์ เดินหน้าแจกสินค้าตัวอย่างให้ชิม เพื่อเกิดการทดลองและซื้อต่อเมื่อถูกใจอีก 400,000 กล่อง เป็นต้น
ส่วนเป้าหมายครั้งนี้ แน่นอน ไชยงค์ ต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดมากสุด แต่ทุกอย่างต้องไต่ไปทีละขั้น และภาพรวมจะช่วยเสริมพอร์ตโฟลิโอแพลนท์เบสของเนสท์เล่โดยรวมด้วย