ชัดๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ยี่ห้อ ขึ้นราคาขาย 25 สตางค์ต่อซอง..จริงหรือ?
หวั่นสินค้าแพง! กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค ผู้ประกอบการแจง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ขยับราคา เป็น Temporary price reduction หรืออาจให้ปรับส่วนลดให้ร้านเหมือนห้างค้าปลีกโขก GP ราคาขายปลีกยัง 6 บาทเหมือนเดิม ด้านผู้ผลิตยืนยันแบกรับต้นทุน แม้วัตถุดิบไร้วี่แววปรับราคาลง
การ “ขึ้นราคาสินค้า” ยังเป็นประเด็นใหญ่และร้อน เพราะจะส่งผลกระทบต่อ “ผู้บริโภค” โดยตรง ยิ่งในห้วงเวลาที่ ประชาชนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง อำนาจซื้อหายไปอย่างมาก จากผลกระทบของวิกฤติโควิด เพราะบ้างตกงาน ไร้เงิน
ยิ่งกว่านั้น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซอง 6 บาท มักจะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกจับตาเสมอ เมื่อต้องเผชิญภาวะ “ต้นทุน” ที่ผันผวน ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องของวัตถุดิบเป็นหลัก ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม โดยช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้แจงภาพรวมต้นทุนการผลิตสินค้าไปบ้างแล้ว เช่น แป้งสาลีจากเคยอยู่ที่ 300 บาทต่อถุงขนาด 22.5 กิโลกรัม(กก) ปรับขึ้นไปแตะ 450 บาทต่อถุง และน้ำมันปาล์มจากราคา 19 บาทต่อกก. ขยับราว 3 เท่า เป็น 53-57 บาทต่อกก. และวัตถุดิบ 2 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของการผลิตสินค้า
แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง โดยแป้งสาลีนำเข้าจากออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐฯ แต่การบริหารจัดการต้นทุนต่าง ผู้ผลิตจึงยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด
ขณะที่การปรับราคากับทางร้านค้า เป็นสิ่งที่ผู้จัดจำหน่ายจะมีการหารือกับร้านต่างๆอยู่แล้วถือเป็น การลดราคาชั่วคราว หรือ Temporary price reduction เท่านั้น ซึ่งผู้จัดจำหน่ายสามารถจะปรับให้หรือไม่ให้แก่ร้านค้า อีกด้านอาจทำควบคู่กับการปรับขึ้น-ลงของราคาขายส่งในรูปแบบของการการทำโปรโมชั่น “ให้ส่วนลด” กับร้านค้าปลีก(TPR :Trade Promotion) ซึ่งแต่ละช่วงแตกต่างกัน และถือเป็นกลยุทธ์ด้านการแข่งขันในตลาดบะหมี่ฯ
สำหรับ 2 ยี่ห้อ ที่มีการปรับลด “ส่วนลด” แก่ร้านค้า ได้แก่ "ไวไว" ซึ่งดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาขายส่งขยับเข้าใกล้ผู้นำตลาดอย่าง “มาม่า”
ส่วน “มาม่า” ได้ปรับราคาขายส่งขึ้น 15 บาท สำหรับหีบขนาด 180 ซอง หรือทำให้ร้านค้าขายบะหมี่ฯต่อซอง จะมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.083 สตางค์ต่อซอง และมีผลต่อการสร้าง “กำไร” ของร้านค้า ซึ่งสวนทางกับข้อมูลที่ผู้ประกอบการร้านค้าระบุว่าบะหมี่ฯขึ้นราคาซองละ 25 สตางค์
“การทำโปรโมชั่นกับร้านค้าหรือ TPR ไม่ต่างจากรูปแบบการค้าขายที่ร้านสะดกซื้อ ห้างค้าปลีกเรียกเก็บค่าการตลาดหรือ GP กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งการทำโปรโมชั่น บางส่วนอาจลดการให้ส่วนลด แต่ปรับไปเป็นให้ของแถมมากขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการ และการทำ TPR เป็นสิ่งที่ผู้จัดจำหน่ายให้แก่ร้านค้าเป็นการชั่วคราว ไม่ได้ทำตลอด”
อย่างไรก็ตาม ส่วนลดที่ให้กับร้านค้าน้อยลง มีผลต่อการค้าขายบะหมี่ฯ ที่กำไรลดลง แต่จะไม่มีผลต่อ “ราคาสินค้า” แต่อย่างใด โดย “มาม่า” ยังคงจำหน่ายราคา 6 บาท เช่นเดิม อีกทั้ง บะหมี่ฯ ถือเป็นสินค้าควบคุมโดยกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถขึ้นราคาได้ทันที
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในวงการบะหมี่ฯ เล่าว่า บะหมี่ฯรสชาติและสินค้าหลัก 6 บาท ยังคงจำหน่ายราคาเดิม แต่สินค้าใหม่ที่ออกมาทำตลาดเสริมพอร์ตโฟลิโอ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และตอบสนองผู้บริโภคที่มองหาสินค้ารสชาติใหม่ๆ จะเป็นราคาใหม่ ดังนั้น ในตลาดจึงเห็นบะหมี่ฯ ซอง 10 บาทบ้าง 14-15 บาทบ้าง ขึ้นกับนวัตกรรมสินค้า
ขณะนี้มีหลายปัจจัยที่เป็นแรงกดดัน “ต้นทุน” ผู้ประกอบการ ฝั่งผู้ผลิตคือ “ราคาวัตถุดิบแพง” บ้างขาดตลาด ส่วนผู้จัดจำหน่ายคือ “ราคาพลังงานเชื้อเพลิง” ที่อยู่ในภาวะขาขึ้น จากวิกฤติความขัดแย้งของรัสเซีย VS ยูเครน หลังจากนี้ไปไม่ได้มีเพียงบะหมี่ฯ ที่ต้องจับตาดูทิศทางราคาสินค้า แต่ยังมีสินค้าอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งช่องทางร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าทั่วไป ได้รับแจ้งการขอขึ้นราคาสินค้าหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น