วัดใจรัฐบาลลดภาษี-ตรึงราคา เบรกสถานการณ์อาหารแพง
สถานการณ์ราคาสินค้ายังได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งเหตุการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นประกอบกับปัจจัยสภาพอากาศทำให้สินค้ากลุ่มอาหารแพงหลายรายการ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า ผลกระทบทางอ้อมทำให้ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่ 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เช่น ธัญพืชสำหรับผลิตอาหารสัตว์ อย่างข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, เหล็กและผลิตภัณฑ์ อย่างทินเพลต ซึ่งเป็นเหล็กสำหรับทำกระป๋องบรรจุอาหาร หรือเหล็กสำหรับก่อสร้าง เป็นต้น มีราคาปรับสูงขึ้น และไทยอาจได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกากถั่วเหลือง ที่ไทยนำเข้าปริมาณมากจากสหรัฐที่ขณะนี้ราคาสูงขึ้นเช่นกัน เพราะเกิดภัยแล้งในสหรัฐทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองลดลง ซึ่งภาคเอกชน เสนอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการรองรับผลกระทบ เพราะการที่วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น อาจทำให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้นตาม และกระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ได้ โดยภาคเอกชน เสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ที่ขณะนี้เก็บอัตรา 2%รวมถึงเสนออีกหลายทางออก เพื่อทำให้ราคาอาหารสัตว์ในประเทศลดลง
“ขณะนี้ยอมรับว่า ราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์สูงขึ้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์เรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษี ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงคลังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า หากปรับภาษีนำเข้าจะกระทบเกษตรกรไทยอย่างไร แต่ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชน”
สำหรับราคาไข่ไก่ ที่สมาคมผู้เลี้ยงผู้ผลิต และส่งออกไข่ไก่ ได้ประกาศแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ที่ฟองละ 3.20 บาท ปรับขึ้นฟองละ 30 สตางค์ หรือแผง (30 ฟอง) ละ 9 บาท จากราคาที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงไว้ที่ฟองละ 2.90 บาทนั้น ได้รับแจ้งจากผู้เลี้ยงว่า ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นมาก จึงสั่งการให้กรมการค้าภายใน หารือกับสมาคมแล้ว เท่าที่ได้รับรายงาน พบว่า สาเหตุที่ปรับขึ้นเพราะต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นจริง แต่จะปรับเพิ่มขึ้นเท่าไร อย่างไร ต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ที่มีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะมีการพิจารณาราคาขายหน้าฟาร์ม และขายปลีกเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค โดยกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายโดยเร็ว
“กรณีที่ผู้เลี้ยงได้ปรับขึ้นราคาขายไปแล้วนั้น เป็นเพราะต้นทุนสูงขึ้นจริง แต่ก็ขอให้อย่าค้ากำไรเกินควร”
รายงานข่าวแจ้งว่า หากรัฐบาลยอมลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลงส่งผลต่อราคาอาหารสัตว์ และสามารถบริหารแหล่งนำเข้าวัตถุดิบชดเชยจากแหล่งเดิมเช่น รัสเซียได้ ขณะเดียวกัน จะทำให้ราคาอาหารกลุ่มโปรตีนลดลงด้วย ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกเงื่อนไข 3ต่อ1ในการนำเข้าข้าวสาลีแลกการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อพยุงราคาภายในซึ่งเป็นภาระต้นทุนของผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็เป็นอีกแนวทางที่ควรผ่อนคลายในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้การบริหารต้นทุนอาหารสัตว์สอดคล้องกับแผนตรึงราคาสินค้าของรัฐบาลด้วย
ขณะที่กรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารสดว่า ไข่ไก่ (เบอร์3) ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคไข่ไก่ที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนอาหารหมวดโปรตีน โดยราคา ณ 4 มี.ค. 3.40-3.60บาทต่อฟอง ไก่สดทั้งตัว(ไม่รวมเครื่องใน) กก.ละ70-80 บาทและหมูเนื้อแดง(สะโพก) กก.ละ155-160 บาทสูงขึ้นจาก 3 มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 145-150 บาท