STA เดินหน้า ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี
STA รุก "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน" ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ยกระดับอุตสาหกรรมยาง หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-ลดการเพิ่มแรงงานใหม่ วางเป้าหมายปี 67 แรงงาน 1 คน ผลิตยางเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เปิดเผยว่า บริษัทฯ เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล จึงเดินหน้าทำ "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน" โดยการลงทุนนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้
ทั้งในส่วนของกระบวนการผลิตภายในโรงงานแห่งใหม่และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและรับซื้อยางจากเกษตรกร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางไทยและนำองค์กรก้าวสู่ยุค 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นใหม่ของบริษัทฯ ที่จะทยอยแล้วเสร็จในปีนี้ 10 โครงการ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3.7 ล้านตันต่อปี จากปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านตันต่อปี และที่จะลงทุนขยายโรงงานใหม่ในอนาคต ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความทันสมัย เช่น
ระบบโรโบติกส์ (หุ่นยนต์) และระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นต้น เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตด้วยระบบออโตเมชั่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถช่วยลดการเพิ่มจำนวนแรงงานใหม่ในอนาคตเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามแผนงาน
บริษัทฯ วางเป้าหมายว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในโรงงานใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางได้มากขึ้น โดยนับจากปี 2563 – 2567 แรงงาน 1 คนสามารถผลิตยางได้เฉลี่ย 16 ตัน ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 35 ตัน หรือมีความสามารถผลิตยางต่อแรงงาน 1 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 120% ภายในระยะเวลา 5 ปี
“โรงงานใหม่ของบริษัทฯ ที่จะทยอยแล้วเสร็จ จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากเรามองว่าการลงทุนด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มแรงงานใหม่เป็นจำนวนมากเพื่อรองรับแผนงานขยายกำลังผลิต”
นายวีรสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ยกระดับอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล โดยเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติรายแรกในไทยที่เปิดมิติใหม่ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ "ศรีตรังเพื่อนชาวสวน" (SRI TRANG FRIENDS) เข้ามาใช้ในการรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนเพื่อ ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว สร้างความโปร่งใสในระบบ Supply Chain อย่างยั่งยืน และมีกิจกรรมเพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงติดตามข้อมูลสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยางผ่านแอพพลิเคชั่น
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้รับความสนใจและมียอดดาวน์โหลดแอพฯ แล้วกว่า 12,000 ราย ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น มีฟีเจอร์เสริม และเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆไปจนถึงการสนับสนุนการสร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อให้เป็น Super App ที่ครอบคลุมการบริการ ข้อมูลข่าวสารและการใช้งานในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับยางธรรมชาติไว้ในแอพฯ เดียว ถือเป็นอีกก้าวในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2565