จี้รัฐรื้อเงื่อนไข 'โควต้า' นมโรงเรียน

จี้รัฐรื้อเงื่อนไข 'โควต้า' นมโรงเรียน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ระบุ ตัวแทนชุมนุมสหกรณ์  นมไทย - เดนมาร์ค จำกัด ได้ยื่นหนังสือให้พิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม หรือนมโรงเรียน

โดยจะนำข้อร้องเรียนของตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย - เดนมาร์ค หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหา ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนได้

 

 สำหรับข้อร้องเรียนของชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค มีหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง เช่น การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ปีการศึกษาละ 96 ตัน เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ หากเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ อ.ส.ค. จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบวันละประมาณ 700 ตัน หรือ 9% ของโครงการนมโรงเรียนที่จะใช้นมดิบทั้งระบบประมาณ 1,200 ตันต่อวัน จากผลผลิตนมทั้งประเทศ 3,500 ตันต่อวัน 

 

รวมทั้งคุณภาพนมดิบที่เข้าโครงการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ เพราะเกษตรกรระบุว่าในบางพื้นที่ยังพบปัญหาคุณภาพน้ำนมไม่ได้มาตรฐาน  แต่บางโรงงานนำไปผลิตเข้าโครงการได้ 

ปัจจุบัน อ.ส.ค. รับซื้อนมจากเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 4,500 ครัวเรือน ปริมาณน้ำนมดิบ 700 ตันต่อวัน แต่ได้สิทธิ์โควต้านมโรงเรียนเพียง 96 ตันต่อวัน แต่เมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งราคาน้ำนม คุณภาพน้ำนม นมโรงเรียนบูด นมโรงเรียนเสีย อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานแรกที่ถูกร้องเรียน ทั้งที่ อ.ส.ค.  มีส่วนผลิตเพียง 9% เท่านั้น และสัดส่วนนมโรงเรียน 96 ตันต่อวัน ไม่สามารถจะดูแลสมาชิกสหกรณ์โคนมได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน

 

ด้านประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย - เดนมาร์ค สมาน เหล็งหวาน ระบุ ข้อเสนอที่ให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณาเช่น ทบทวนโควต้านมโรงเรียนให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นสมาชิก               ก่อนผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีโคนม และให้ยกเลิกคุ้มครองโรงงานโรงนมเล็กทั้งหมด ทั้งขนาด 3 ตัน และ 5 ตัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดโรงใหม่ขึ้นทุกปี แต่จำนวนเด็กนักเรียนตามงบประมาณเท่าเดิม 

 

รวมทั้งพิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ได้สิทธิ์โควตาทำนมโรงเรียนง่ายและมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำนมที่ผลิตได้ และเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้สหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีตลาดที่แน่นอน มั่นคง และยั่งยืน และที่สำคัญคือการตรวจสอบผู้ประกอบบางรายที่ไม่รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรแต่กลับได้งบในโครงการนมโรงเรียน เพราะขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการจัดสรรโควต้านมโรงเรียน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับภาคเกษตรกร