นักกฎหมายชี้ขัดหลัก “พีพีพี” ร่าง พรบ.ขนส่งทางราง
นักกฎหมายติง ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มอบอำนาจรัฐมนตรีเพิกถอนสัมปทาน ขัดแย้งหลักการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ ด้านสหภาพการรถไฟฯ หวั่นแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซ้ำซ้อนกฎหมาย
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ซึ่งการขนส่งทางรางเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของแผนการพัฒนาเพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ปัจจุบันจึงมี“ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ.... ฉบับเสนอสภาผู้แทนราษฎรเดือน ก.พ. 2565 (“พ.ร.บ. การขนส่งทางราง”)” ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่อีกฉบับที่กำลังมีข้อถกเถียงในมุมต่างๆ
อมร จันทรสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตในสาระสำคัญของหลักการและภาพรวมไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัญญาสัมปทาน 2.การไม่ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางราง และ 3.หลักเกณฑ์และอำนาจที่มีความซ้ำซ้อน
สำหรับประเด็นที่ 1 การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัญญาสัมปทาน หรืออนุมัติการต่ออายุสัญญาสัมปทาน (ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว) เป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ พีพีพี
โดยหลักการในเรื่องนี้ มีการระบุไว้ใน พ.ร.บ. การขนส่งทางรางกำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานเดิมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การขนล่งทางราง และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนด โดยหากผู้ได้รับสัมปทานเดิมกระทำผิดใดของ พ.ร.บ. การขนส่งทางราง ถือเป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางและให้เพิกถอนสัญญาสัมปทาน (มาตรา 162 วรรคสอง)
นอกจากนั้น ในกรณีที่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดิมต้องขอรับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย (มาตรา 162 วรรคสี่)
ส่งผลให้เกิดข้อสังเกตที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว แบ่งเป็น ข้อสังเกตที่ 1 พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์ให้โครงการร่วมลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมใช้อำนาจเพิกถอนสัมปทานได้ เป็นการให้อำนาจเพิกถอนการดำเนินการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ และขัดแย้งกับหลักการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะของคณะรัฐมนตรีในการบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. พีพีพี พ.ศ. 2562
อีกทั้ง ข้อสังเกตที่ 2 ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฉบับล่าสุด เนื้อหาต่างจากฉบับก่อนหน้าที่กระทรวงคมนาคมขอเพิกถอนไปในปี 2563 (ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาร่าง) ที่มิได้กำหนดหลักการนี้เอาไว้ แต่กำหนดหลักการไว้ว่า “จะต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางเดิม” (มาตรา 33)
ประเด็นที่ 2 การไม่ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นและการครอบงำกิจการ เช่น การห้ามผู้รับใบอนุญาตถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางอื่นเกินกว่า 50% หรือการห้ามมิให้มีบริษัทที่สามถือหุ้นเกินกว่า 50% ของทั้งในบริษัทผู้รับใบอนุญาตและบริษัทที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางอื่น (มาตรา 60) และการกำหนดเกี่ยวกับการสัดส่วนการถือหุ้นและอำนาจบริหารจัดการโดยคนต่างด้าวไม่ให้ เกินกว่ากึ่งหนึ่ง (มาตรา 45 และ 46)
โดยข้อสังเกตที่สำคัญในประเด็นนี้ อาจเป็นการกีดกันไม่ให้เอกชนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการขนส่งทางราง เข้าร่วมดำเนินการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางในโครงการอื่นได้อีก จึงไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่มีประสบการณ์สามารถเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในอนาคตได้ ซึ่งจะทำให้รัฐและประเทศชาติเสียประโยชน์ เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 หลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลซนแห่งประเทศไทย
ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ยับยั้งร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... เพราะจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายภาคส่วน รวมทั้งประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กลับมีบทบัญญัติที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่การรถไฟฯ ถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัด อำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ
สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสร.รฟท. กล่าวว่า ได้เข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) เพื่อร่วมแสดงพลังการคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้ยับยั้งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…. เพราะมีสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การแปรรูปกิจการขนส่งทางรางที่เป็นของรัฐให้เอกชน
ขณะที่กรมการขนส่งทางราง ออกหนังสือชี้แจง ว่า ไม่มีบทบัญญัติใด มาตราใดที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปใดๆ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2564 ทั้งนี้ หาก สร. รฟท. ยังคงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. .... สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้