ศุลกากรชูเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
กรมศุลกากรพัฒนาระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการตรวจปล่อยสินค้า ลดความเสี่ยงในการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย มั่นใจการนำเข้าสินค้าจะเกิดความคล่องตัวมากขึ้น
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า แนวโน้มการนำเข้าสินค้าสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2561 ที่อยู่ในระดับ 6-7 ล้านชิ้นต่อปี ขณะนี้ มาอยู่ที่ 38 ล้านรายการต่อปี ทำให้กรมฯ ต้องพัฒนาระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการให้บริการดังกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดกรมศุลกากรได้อนุญาตให้บริษัท อีดับเบิ้ลยูทีพีดิจิตอล เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ eWTP Thailand Duty Free Zone โดยสอดรับกับ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการส่งเสริมกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และเสริมประสิทธิภาพการนำเข้าให้คล่องตัว
โดยกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 204/2562 ลงวันที่ 24 กันยายน 2562 รองรับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบใหม่ที่จะมีขึ้นในเขตปลอดอากรดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้พัฒนาพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้กับเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า ระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Customs System: e-Coms) เพื่อให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากรดังกล่าว มีความสะดวกรวดเร็ว มาตรฐานสากล และลดความเสี่ยงในการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย พร้อมทั้งมั่นใจว่าการนำเข้าสินค้าจะเกิดความคล่องตัวมากขึ้น
ซึ่งตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวข้างต้น กำหนดให้เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการรับมอบ ส่งมอบ การขนย้าย การเก็บรักษา การตรวจสอบสินค้าคงเหลือ และการตรวจปล่อยสินค้าที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ ระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีระบุตัวตนของสินค้า ระบบสายพานลำเลียงสินค้า เครื่องชั่งน้ำหนักอิเล็กทรอนิกส์ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์และ/หรือสิ่งของที่ผ่านเข้าออก ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน หรือระบบควบคุมอื่นใดเพิ่มเติมตามที่กรมศุลกากรกำหนด (ข้อกำหนดที่แตกต่างจากเขตปลอดอากรทั่วไป)
ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับของที่นำเข้าเขตปลอดอากรดังกล่าว เข้าสู่ระบบ e-Coms ของกรมศุลกากรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนยานพาหนะที่ขนส่งของจะมาถึงท่า ที่หรือด่านศุลกากรที่นำเข้า โดยระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Coms) สามารถรองรับทุกประเภทการขนส่งสำหรับสินค้าที่นำเข้าเขตปลอดอากร และเมื่อมีการขนย้ายสินค้าจากระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Lock) เพื่อประโยชน์ในการควบคุมตรวจสอบได้ระหว่างการเคลื่อนย้าย และเมื่อมีสินค้าที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าจะมีการควบคุมด้วยระบบเอกซเรย์และเทคโนโลยีระบุตัวตนของสินค้า และเมื่อเริ่มการจัดทำบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory) แล้ว
หากพนักงานศุลกากรมีเหตุสงสัยในความไม่ถูกต้องของสินค้านั้นๆ จะทำการตรวจสอบสินค้าทางกายภาพเพิ่มเติม สำหรับใบขนสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่มีภาระอากร ผู้ประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ต้องชำระค่าอากร จนกว่าจะครบกำหนด 14 วันนับแต่วันที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ให้สิทธิประโยชน์ไว้
รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมศุลกากรมุ่งมั่นในการส่งเสริมการจัดตั้งเขตปลอดอากร และพัฒนาระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Customs System: e-Coms) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ของโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา เพิ่มความเชื่อมั่น และเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์