เฟ้นหาหุ้นบวกสวนทางตลาด ท่ามกลางสินทรัพย์เสี่ยงระส่ำ

เฟ้นหาหุ้นบวกสวนทางตลาด  ท่ามกลางสินทรัพย์เสี่ยงระส่ำ

สินทรัพย์เสี่ยงพากันดิ่งลงถ้วนหน้ายิ่งในตลาดหุ้นและตลาดคริปโทเคอเรนซี่ เจอแรงขายกดดัชนีและราคาร่วงหนัก ซึ่งสถานการณ์รัสเซียน-ยูเครน ยังยื้อเยื้อกว่าคาดการณ์กดดันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยแทน

 

ปัจจัยที่มีผลกระทบรุนแรงหนีไม่พ้นราคาพลังงานทั้งราคาน้ำมันทำนิวไฮที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดรอบ 8 ปี และยังปรับขึ้นสูงกว่าที่ตลาดโลกคาดการณ์ไว้ในปีนี้ ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าการขนส่งขยับตัวสูงขึ้นจนเป็นที่มาของ เงินเฟ้อ 

สถานการณ์ดังกล่าวยังกดดันนโยบายการเงินของเศรษฐกิจหลักโลกต้องใช้ความเข้มงวดด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อมาสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งนำโดย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ชัดเจนแล้วว่าเตรียมขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมี.ค. นี้ที่ 0.25 %  ทำให้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลไปยังตลาดที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ทั้งนี้ในมุมมอง บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เคทีบีเอสที  วิเคราะห์ภาพรวมของสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงส่งสัญญาณยืดเยื้อและร้อนระอุ ลุกลามกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กังวลถึงโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติฝั่งตะวันตก ซ้ำเติมความบอบช้ำจากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ผลกระทบดังกล่าวกระทบกับความเชื่อของนักลงทุนในตลาดทุนและตลาดการเงินทั่วโลก สวนทางสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่มีผลวิจัยฯของสำนักวิเคราะห์ชั้นนำต่างชาติที่คาดการณ์ว่าในระยะสั้นๆ มีโอกาสลุ้นดีดตัวขึ้นแรงไปถึง 150-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่บล. ทิสโก้ เปิดมุมมองด้านบวกต่อหุ้นประกอบไปด้วย การคาดหุ้นขนาดใหญ่ ได้ประโยชน์จากดัชนี  MSCI ตัดตลาดหุ้นรัสเซียออกจากดัชนีมีผล 9 มี.ค. ส่งผลทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ (Uninvestable) และ จัดตลาดหุ้นรัสเซียจากตลาด Emerging Market เป็น Standard Market  และผลการดำเนินการดังกล่าวของ MSC  จะทำให้เม็ดเงินของกองทุน Emerging Market จะขยับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียและไทยมากขึ้น 

ตลาดหุ้นรัสเซียคิดเป็น 3% ของ Emerging Market ETFs โดยผลที่เกิดขึ้นทันทีต่อนักลงทุนหรือกองทุนที่ถือกองทุน Emerging Makket ETFs ขาดทุนหรือมูลค่าลดลงทันทีอย่างน้อย 3%  มีหุ้นได้ประโยชน์  PTT, PTTEP, AOT, ADVANC, GULF, CPALL, BDMS, SCB, KBANK, BBL

หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าเกษตรต่างปรับขึ้น อาทิ แป้ง, ข้าวโพด คาดจะเป็น Sentiment บวกต่อ APURE, TMILL, TWPC

นอกจากนี้ปัจจัยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลบวกต่อหุ้น PTT, PTTEP, IRPC, BCP, BANPU, TPIPL หลังรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.พ. ทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสที่จะสูงกว่าที่ ตลาดคาดแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี (ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น +10% จากกรณีฐาน) จะทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่เหนือกรอบบนของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3%

โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะอยู่สูงกว่าระดับที่คาดและ/หรือ อยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด (ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 108 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 3 มี.ค.  มีสมมติฐานในกรณีฐานเฉลี่ยที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

การประชุม กนง. ครั้งถัดไปในช่วงปลายเดือน มี.ค. คณะกรรมการมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.7%) และแสดงความกังวลเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในประเทศที่จะซ้ำเติมอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบาง แม้ว่าเงินเฟ้อ มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและเพิ่มความน่าจะเป็นที่ ธปท. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้  ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลบวกต่อหุ้น  BBL, KBANK, SCB, BLA

อย่างไรก็ดี ใน กรณีฐานยังคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดทั้งปี นอกจากเงินเฟ้อจะทะลุกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายอย่างมี เสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนการส่งผ่านต้นทุนที่แท้จริง และการเพิ่มขึ้นของราคาในวงกว้าง อีกทั้ง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังคงห่างไกลจากช่วงก่อนโควิด

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลง 0.40 % จากการปรับลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู ( FIDF) และจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นปี 2565  (หากไม่ขยายระยะเวลา) ซึ่งจะทำให้ MLR ถูก ปรับเพิ่มกลับขึ้นมา  0.40 %  หรืออาจเทียบเท่ากับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  0.75 %  ดังนั้นมอง ธปท. อาจรอให้ถึง ช่วงเวลาดังกล่าวและเลือกใช้นโยบาย wait and see เพื่อประเมินผลกระทบ ก่อนที่จะส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยนโยบายต่อไป