'เบียร์ช้าง-ไฮเนเก้น' ขึ้นราคา เรทขยับ 1-6 บาท ต่างจังหวัดขายปลีกสุดแพง!
เบียร์จะขึ้นราคา ต้องแจ้งเสียภาษีสรรพสามิตล่วงหน้า 15 วัน เดือนกุมภาฯ จึงสะพัด "น้ำเมา" จ่อขึ้นราคาขาย มีนาคม "เบียร์ช้าง-ไฮเนเก้น" ได้ฤกษ์ขายราคาใหม่แล้ว เบียร์ช้าง/แพ็คเพิ่ม 6 บาท ไฮเนเก้น ขึ้น 4 บาท/ขวด เหล้านอกสต๊อกบวม เบรกขยับราคา คอทองแดงสำรวจเงินในกระเป๋าด่วน!
สินค้าทยอยปรับขึ้นราคาถ้วนหน้าจากอาหาร สินค้าจำเป็น ล่าสุดเป็นคิวของ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ทั้งเหล้า เบียร์ เพราะแบกรับแรงกดดันไม่ไหว จากภาวะเงินเฟ้อพุ่ง วัตถุดิบราคาแพง ทิศทางพลังงานเชื้อเพลงขาขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่สถานการณ์ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยังไม่ดีขึ้น โลจิสติกส์ในประเทศเผชิญน้ำมันขยับขึ้นทุกวัน
กรุงเทพธุรกิจ ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้า กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ปรับขึ้นแล้ว นำร่องโดย “เบียร์ช้าง” บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และแบรนด์ระดับโลก “ไฮเนเก้น” ของกลุ่มบริษัททีเอพี หลังส่งสัญญาณการขยับราคามาระยะหนึ่ง
สำหรับราคาใหม่ เช่น เบียร์ช้างขนาด 620 มิลลิลิตร(มล.) แพ็ค 3 ขวด ราคา 160 บาท จากเดิม 154 บาท แพ็ค 2 ขวด ราคา 110 บาท จาก 104 บาท ไฮเนเก้น กระป๋อง 490 มล. 65 บาท จากเดิม 62 บาท ขวดแก้วขนาด 620 มล. ราคา 76 บาท จากเดิม 72 บาท เชียร์ราคา 56 บาท จาก 54 บาท เป็นต้น ส่วนเบียร์จากค่ายสิงห์ยังราคาเดิม ซึ่งสินค้าทั้งหมดจำหน่ายช่องทางร้านสะดวกซื้อ
ส่วนร้านค้าทั่วในต่างจังหวัดเบียร์ช้างขวด 620 มล. ราคา 60 บาท จาก 53 บาท ลีโอขวด 620 มล. ขายปลีก 60 บาท จาก 55 บาท เป็นต้น
แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตเบียร์มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนตัวมองว่าไม่สูงมากนัก เช่น ฮอปส์ มอลต์ ฯ ปกติราคาขึ้นทุกปีเฉลี่ย 3-5% ส่วนราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น บริษัทขนาดใหญ่บริหารจัดการได้อยู่แล้ว หากต้องการช่วยเหลือหรือไม่เป็นการผลักภาระขึ้นราคาสินค้ากระทบผู้บริโภคในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้
ส่วนการปรับราคาเบียร์ขึ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเป็นรายใหญ่ สามารถทำได้ง่าย เมื่อเป็นเรื่องผลกระทบต้นทุน สินค้าที่มีราคาต่ำสุด เช่น ไทยเบฟมีแบรนด์ “อาชา” หากปรับขึ้น จะทำให้ทุกยี่ห้อขยับตามโดยปริยาย
เปรียบเทียบราคาเบียร์ช้าง ก่อน-หลังปรับราคา(ช่องทางร้านสะดวกซื้อ)
“ถ้าช้าง แบรนด์ขายดีปรับขึ้น แล้วอาชาไม่ขึ้นอาจสะท้อนต้นทุนไม่ได้ขึ้นจริง แต่ถ้าแบรนด์ต่ำสุดขึ้น ซีลลิ่งขึ้นตาม ส่วนราคาที่ปรับขึ้น 5 บาทต่อขวด ในมุมผู้บริโภคถือว่าแพง เพราะตลาดแข่งขันกันที่ราคา 1-2 บาท”
แหล่งข่าวจากบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนผลิตเบียร์มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทยังไม่ปปรับขึ้นราคาสินค้า แต่มีการพิจารณาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อตัดสินใจอีกครั้ง
++คราฟท์เบียร์ ต้นทุนนำเข้าพุ่ง 10-20%
นายปณิธาน ตงศิริ ที่ปรึกษาบ้านนอกเบียร์ และเบียร์กรุงเทพ กล่าวว่า ตลาดเบียร์มีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิดหนักมาก เพราะช่องทางจำหน่ายที่เป็นร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ(ออนเทรด) ถูกปิดให้บริการ ทำให้ตลาดหดตัว เช่นเดียวกับตลาดคราฟท์เบียร์ที่เคยมีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ล่าสุดเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท
ส่วนภาวะต้นทุนคราฟท์เบียร์นำเข้ามีการปรับตัวสูงขึ้น 10-20% จากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศพุ่ง ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ส่วนวัตถุดิบเช่น ฮอปส์ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด กำลังซื้อผู้บริโภคลด ผู้ประกอบการไม่กล้าขยับราคามากนัก
ขณะที่บริษัทต้องหยุดผลิตสินค้าทำตลาดในร้านสะดวกซื้อชั่วคราว แต่เน้นจำหน่ายให้ร้านประจำเพื่อรักษาฐานลูกค้าเท่านั้น เนื่องจากยอดขายไม่ฟื้น กระทบการแบกสต๊อก และต้นทุนการดำเนินงาน
เบียร์ไฮเนเก้น ก่อน-หลังปรับราคา (ช่องทางร้านสะดวกซื้อ)
“คราฟท์เบียร์จะขึ้นราคา เจ็บทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะวิกฤติโควิดขายสินค้าอยากอยู่แล้ว ลูกค้าน้อย หากขึ้นราคาไม่มีลูกค้าคนไหนสุนทรีย์มาดื่มเบียร์ขวด 200-300 บาท การขึ้นราคาจึงไม่ใช่ทางออก”
++เหล้านอกตรึงราคา เหตุแบกสต๊อกอ่วม
นายธนากร คุปตจิตต์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า ก่อนโควิดระบาดภาพรวมสุรานำเข้ามีมูลค่าเชิงปริมาณกว่า 30,000 ลิตร แต่วิกฤติโควิด-19 ฉุดตลาดหดตัวแรง 30-40% เนื่องจากการขายส่วนใหญ่พึ่งพากิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนเทรดเป็นหลัก เมื่อขายสินค้ายาก ผู้ประกอบการจึงแบกสต๊อกไว้มหาศาล
ด้านภาพรวมต้นทุนสุรานำเข้า มีการปรับตัวขึ้นจากน้ำมันแพง สงครามรัสเซียยูเครน ค่าเงินที่ผันผวน สงครามการค้า และการขนส่งที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่การนำเข้า แต่ผู้ประกอบการยังไม่กล้าปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะกังวลอาจซ้ำเติมการขายและการบริโภคของลูกค้า ยิ่งกว่านั้นกลุ่มเป้าหมายสุรานำเข้าคือนักท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเที่ยวไทย
โดยทั่วไป การนำเข้าสุราจะมีการคำนวณต้นทุนและแจ้งราคาต่อตัวแทนจำหน่ายล่วงหน้าหลายเดือน รวมถึงใช้เวลาขนส่งราว 3-4 เดือน จากประเทศต่างๆ เช่น สก๊อตแลนด์ ฝรั่งเศส และการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำเพื่อเสียภาษีสรรพสามิตไว้ก่อน หากปรับราคาขายแนะนำใหม่ จะถูกปรับในจำนวนที่เพิ่มขึ้น
“ขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงทั้งสงครามรัสเซียยูเครน ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าสุราไม่กล้าขึ้นราคาสินค้า เพราะเดิมยังมีสต๊อกเหลือค่อนข้างมาก แต่จะปรับขึ้นราคา จะเกิดก่อนเทศกาล เพราะไม่มีผลต่อการบริโภค ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม อาจเห็นการพิจารณาราคาอีกครั้ง”
ธนากร คุปตจิตต์
อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้จะมีการขึ้นราคา แต่สิ่งที่สะท้อนภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคลดลง คือการเสียภาษีสรรพสามิต เช่น เบียร์อยู่ที่ 70,000-80,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนสุราหดตัวกว่า 10%
++สินค้าจำเป็นจ่อขยับราคาไตรมาส 2
นอกจากนี้ ที่ต้องจับตาผลกระทบค่าครองชีพผู้บริโภคต่อ คือการขยับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า สงครามรัสเซียยูเครน เป็นเหตุการณ์โลกที่กระทบความเชื่อมั่นของธุรกิจ การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และเป็นแรงกดดันต่อราคาพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งบีเจซี มีโรงงานขวดแก้วที่ใช้พลังงานมหาศาล หากราคาทะยานต่อเนื่อง บริษัทสามารถปรับราคาไปยังลูกค้าราว 50% รวมถึงต้องเกาะติดต้นทุนการผลิตกระดาษชำระที่ขยับขึ้น ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ของบีเจซี และบิ๊กซีจะปรับรถขนส่งสินค้าจากใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทน
“ไตรมาส 2 จะเห็นชัดว่าต้นทุนสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะนอกจากสงครามรัสเซียยูเครน กระทบราคาพลังงาน ยังมีความผันผวนของค่าเงิน ส่งผลต่อต้นทุนนำ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีผลต่อต้นทุนแฝงอื่นๆตามมาอีกมาก”
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล
ที่ผ่านมานอกจากเนื้อหมูราคาแพง สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียมขึ้นราคาแล้ว ในต่างจังหวัดยังพบตัวแทนจำหน่ายมีการปรับราคาขายส่งอื่นๆด้วย เช่น เครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม-150 จากลังละ 435 บาท ขึ้นมา 515 บาท หรือขายปลีก 12 บาท จากเดิม 10 บาทต่อขวด น้ำมันถั่วเหลือง ราคา 65 บาท และ 70 ต่อขวด เป็นต้น