ดึง 3 ค่ายรถเดินหน้า ’รถยนต์ไฟฟ้า’ หาคำตอบกับโฆษกกรมสรรพสามิต

ดึง 3 ค่ายรถเดินหน้า ’รถยนต์ไฟฟ้า’ หาคำตอบกับโฆษกกรมสรรพสามิต

สรรพสามิตนัดค่ายรถ ลงนามสัปดาห์นี้ร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คาดเปิดขายงานมอเตอร์โชว์ปลายมี.ค.นี้ ด้านคลังเผยปลายปีนี้ค่ายรถญี่ปุ่น - จีนพร้อมลงทุนรถกระบะไฟฟ้าในไทย ร่วมพูดคุยกับคุณณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ กรมฯ จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับค่ายรถยนต์อย่างน้อย 3 ค่าย ที่ตอบตกลงเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ประกอบด้วย ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ค่ายเอ็มจี 2 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน และค่ายฮอนด้า จากประเทศญี่ปุ่น

เขากล่าวว่า ภายหลังลงนามเรียบร้อยและมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์แล้ว ค่ายรถยนต์จะสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษี และเงินอุดหนุนจากรัฐ มาวางจำหน่าย ได้ทันในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มี.ค.- 3 เม.ย.65 ได้ทันที


“เบื้องต้นมี 3 ค่ายที่ตอบตกลงเข้าร่วมมาตรการแล้ว ส่วนค่ายอื่นกำลังมีการพูดคุยกันอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และน่าจะมีทยอยเข้าร่วมตามมา โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการที่รัฐออกไป จะช่วยจูงใจให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ค่ายรถต่างประเทศ เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย”

ทั้งนี้ รถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า จะได้รับสิทธิประโยชน์ทำให้ราคาถูกลงถึง 3 ต่อ ต่อแรกเป็นการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% ลดเหลือ 2% ต่อที่สองได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามขนาดแบตเตอรี่ รถยนต์ 70,000-150,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน และสุดท้ายได้รับการลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน

หากมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ส่วนรถยนต์ที่มีราคาแนะนำ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20% เท่ากับว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขาย คันหนึ่งจะลดลงไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท


ตามเป้าหมายในช่วงแรกปี 2565 - 2566 รัฐบาลจะมีการลดภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า พร้อมเงินอุดหนุน ให้ค่ายรถยนต์ สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาจำหน่ายได้ราคาถูกลง เพื่อเป็นการทดลองตลาดในประเทศ แต่หลังจากนั้นได้กำหนดเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์ จะต้องเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วย ตามจำนวนสัดส่วนที่กำหนด พร้อมกับได้รับมาตรการส่งเสริม เช่น การลดอากรนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า ปัจจุบันมีค่ายรถได้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาเตรียมจำหน่ายในราคาซึ่งถูกลงกว่าเดิมแล้ว ไม่ต่ำกว่า 2,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์จากประเทศจีน ซึ่งเบื้องต้นมีการคาดการณ์ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับลดลง หากเป็นรถที่มีราคาประมาณ 9 แสนบาท อาจเห็นการลดราคาเหลือ 7 แสนบาท ส่วนรถยนต์ 4-5 แสนบาท จะลดเหลือ 3-4 แสนบาท ส่วนรถยนต์ราคา 1.4 ล้านบาท จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนเงื่อนไขของค่ายรถที่เข้าร่วมต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ ผลิตรถยนต์ชดเชยให้เท่ากับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าช่วงปี 2565 - 2566 ช่วงปี 2567 และขยายเวลาได้ ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า หรือนำเข้า 1 คัน ต้องผลิต 1.5 คัน ซึ่งค่ายรถจะใช้สิทธิผลิตรถรุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวีในประเทศ คาดว่า ในช่วงปลายปีนี้ จะมีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น และจีน จะเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อผลิตรถกระบะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอีวีในประเทศไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ประเภทอีวีหรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% ของรัฐบาล ซึ่งตามมาด้วยมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้คนในประเทศใช้รถอีวีด้วยการลดภาษีทั้งภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตรวมถึงให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ 7 หมื่นบาทต่อคัน ถึง 1.5 แสนบาทต่อคัน เพื่อทำให้ราคาขายปลีกรถยนต์ประเภทอีวีต่ำลง

“มาตรการดังกล่าวทำให้ค่ายรถยนต์หลายค่ายให้ความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ประเภทอีวี โดยเฉพาะรถยนต์กระบะ ซึ่งถือว่าเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทย”แหล่งข่าวกล่าวว่า อันที่จริงแล้ว อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์กระบะ ก็อยู่ระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ที่ประมาณ 2-5% โดยภาระภาษีต่อคันประมาณหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อเป็นการผลิตรถยนต์กระบะประเภทอีวี จะทำให้ต้นทุนต่อคันเพิ่มขึ้นราว 3-4 แสนบาท ซึ่งภาษีสรรพสามิตรถกระบะอีวีที่ลดเหลือ 0% อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก แต่เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท จะช่วยให้ราคารถกระบะอีวีไม่สูงมากจนเกินไป

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ครม.ได้อนุมัติไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาในตัวกฎหมาย คาดว่า จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
สำหรับสาระสำคัญของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า คือ 1. จะเป็นการส่งเสริมการนำระบบ ADAS ( Advanced Driver Assistance Systems) มาใช้ในรถยนต์ เช่น ระบบ Advanced Emergency Braking system หรือระบบ Forward Vehicle Collision Warning System เป็นต้น
2.จะปรับลดเกณฑ์การปล่อย Co2 ของรถยนต์ เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์ทุกประเภทมีการลดการปล่อย Co2และประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยจะเริ่มในปี 2569
3.กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ประเภท HEV เป็นรถยนต์ที่ผลิตไฟฟ้า จากการขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน แต่ไม่สามารถเสียบปลั๊กแล้วเติมไฟฟ้าได้ และรถยนต์ประเภท PHEV ที่สามารถเติมพลังงานไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กได้ โดยให้ภาษีสรรพสามิตรถ PHEV ต่ำกว่า HEV
โดยจะเริ่มในปี 2569 เช่น ในปี 2569 อัตราภาษีสรรพสามิตของรถ HEV ที่ปล่อย CO2 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 6% ขณะที่ รถ PHEV ที่มีระยะทางวิ่งด้วยไฟฟ้า ( Electric Range ) มากกว่าหรือเท่ากับ 80 กิโลเมตร และมีถังน้ำมันขนาด น้อยกว่าหรือเท่ากับ 45 ลิตร จะมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 5 %
4.รถยนต์ประเภทอีวีหรือ BEV อัตราภาษีลดลงเหลือ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์