กบข.เพิ่มความระวังลงทุนปี65 ลดพอร์ต”หุ้น-บอนด์”ต่างประเทศ
“ กบข.” พลิกกลยุทธ์ลงทุนรับมือความผันผวน จาก “เฟดใช้นโยบายการเงินตึงตัว-สงครามรัสเซียยูเครน” ลดพอร์ตหุ้น-บอนด์ต่างประเทศ แต่เพิ่มนำ้หนักหุ้นไทย คาดหากสงครามยุติเร็ว หนุนผลตอบแทนปีนี้กลับมาเป็นบวก แต่ถ้ายืดเยื้ออาจติดลบ 3-5%
นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนของกบข. ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน
โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายการแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆเป็นหลัก และความเสี่ยงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ทั้งนี้ กบข. ได้ปรับพอร์ตลงทุนลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นโลกมาอยู่ที่ 11% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 13% และปรับลดการลงทุนตราสารหนี้โลกมาอยู่ที่ 9% จากสิ้นปี 2564อยู่ 10% โดยลดการลงทุนหุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว
แต่เน้นสินทรัพย์ที่ได้รับผลบวกจากอัตราเงินเฟ้อ เน้นกลุ่มหุ้นคุณค่า (value) และตามวัฏจักร (Cyclicals) เช่น กลุ่มธนาคารและพลังงาน โดยได้ปรับเพิ่มสัดส่วนหุ้นไทยมาอยู่ที่ 6% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 5% เพื่อรองรับการฟื้นตัวและมีหุ้นคุณค่า รวมทั้งแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าตามภูมิภาค
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ยังคงกลยุทธ์ Bear Flattening โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ (บอนด์ยิลด์ อายุระยะยาวปรับขึ้นช้ากว่าอายุระยะสั้น) และปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกยังเป็นบวกต่อบอนด์ยิลด์อายุยาวบ้าง ทำให้มีการปรับกลยุทธ์ระยะสั้นตามภาวะตลาด เพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ไทยมาอยู่ที่ 52% จากสิ้นปี2564อยู่ที่ 51%
ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ ทยอยเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะน้ำมัน ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันให้อ่อนค่าจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เพราะความกังวลการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น ทำให้สัดส่วนการลงทุนอื่นๆ เพิ่มมาอยู่ที่ 22% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 21%
สำหรับ ณ 28 ก.พ. 2565 กบข.สินทรัพย์กองทุนส่วนสมาชิกอยู่ที่ 446,126.61 ล้านบาท มีสัดส่วนการลงทุน หุ้นโลก 11% หุ้นไทย 6% ตราสารหนี้โลก 9% ตราสารหนี้ไทย52% และอื่นๆ 22%
“ความผันผวนในตลาดปัจจุบัน กบข. ปรับพอร์ตอย่างระมัดระวัง หากสถานการณ์ดีขึ้น กบข. จะพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนอาจจะกลับมาเป็นบวกได้”
นางศรีกัญญา กล่าวว่า กบข.ประเมินความเสี่ยงทางด้านแรงกกดดันธนาคารกลาง โดยเฉพาะเฟด เข้าสู่โหมดเริ่มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง มีความน่าจะเป็นสูงที่จะเริ่มด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็นครั้งแรกในการประชุม FOMC 16 มี.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าเฟดจะเริ่มทำ Quantitative Tightening (QT) ในครึ่งปีหลังเป็นต้นไปในลักษณะปล่อยให้สินทรัพย์หมดอายุ (autopilot) ประมาณ 1แสนล้านดอลลาร์ ต่อเดือน
ดังนั้น ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ โดยกรณีฐานคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงได้ในครึ่งปีหลัง ขณะที่คาดการณ์ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงิน กบข. คาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของเฟดน้อยกว่าที่ตลาดคาดปัจจุบันเล็กน้อย คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 5-6 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้าง แต่คาดว่า บอนด์ยิลด์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่จะไม่ส่งผลเชิงลบต่อหุ้น
พร้อมกับประเมิน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบง่าย ๆ สร้างความผันผวนในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความกังวลขาดแคลนอุปสงค์ในสินค้าโภคภัณฑ์จากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นระยะ ๆ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ กระทบต้นทุนการผลิตและการใช้จ่ายครัวเรือนในระดับหนึ่ง เพิ่มความกังวลวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแถบยุโรป ซึ่งเป็น dilemma ในการดำเนินนโยบายการเงินโดย ECB เตรียมแผนสำหรับนโยบายตึงตัวเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง หรือคงความผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไปจนถึง 2566 เพื่อรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
หากสงครามเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลง จะราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะฟื้นตัวกลับมาได้ และผลตอบแทน กบข. กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง แต่ใน worst case scenario ที่สงครามมีความยืดเยื้อ อาจทำให้ผลตอบแทน กบข. ติดลบได้อยู่ระหว่าง 3-5% (ตาม stress test)