“ยศพงษ์” ชี้นโยบายรัฐ หนุนตลาดอีวีในไทยโต 2 เท่า
“ยศพงษ์” ชี้ตลาดรถอีวีโต 2 เท่า สวนวิกฤติโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลไทยดันนโยบายหนุนราคาถูก - เอกชนกล้าลงทุนสถานีชาร์จดันยอดใช้โตรับเทรนด์พลังงานสีเขียว
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในงานสัมมนา "Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว" จัดโดย กรุงเทพธุรกิจในหัวข้อ Driving Green Business ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีการเติบโตที่ดี ตามเทรนด์ก้าวสู่การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ สิ่งที่เริ่มมาคือ ยานยนต์จะไม่มีเครื่องยนต์ และไร้มลพิษ
อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งพลังงานจะสะอาด รวมถึงแนวโน้มการใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า ดังนั้น อุปกรณ์ในรถตัวสำคัญคือ แบตเตอรี่ และมอเตอร์ที่พัฒนาจากการชาร์จไฟฟ้า โดยขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ด้วยความที่เป็นเป็นมอเตอร์ ความซับซ้อนของระบบเกียร์ก็จะหายไป
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอาจจะดูง่าย แต่การจะมาถึงจุดคอมเมอร์เชียลก็ต้องใช้เวลา ตลาดระยะเวลาปี 2011-2021 การเติบโตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกไม่ถึง 1 หมื่นคัน แต่ขณะนี้พบว่ามีการกระโดดปีละกว่า 6 ล้านคัน จะเห็นได้จากผลกระทบโควิด-19 ตลาดรถทั่วไปมีจำนวนลดลง แต่รถอีวีกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปีละ 3 ล้านคันเป็น 7 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เริ่มนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าช่วงปี 2015-2016 และมีสนับสนุนอย่างจริงจังช่วงปีที่แล้ว ผลปรากฏว่ารถอีวีเทสล่า (Tesla) เข้ามาเป็นอันดับ 1 สวนกระแสกับน้องใหม่อย่างเห็นได้ชัด ขนาดกลุ่มผู้ผลิตที่มีทั้งรถยนต์ที่ใช้ทั้งน้ำมัน และชาร์จไฟฟ้ายังสู้เทสล่าที่มีอีวีอย่างเดียวไม่ได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าประเทศไทยมาถูกกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ในส่วนของราคาแบตเตอรี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มลดลงกว่าเท่าตัว และจะถูกลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีข้อดีคือ เมื่อชาร์จไฟเก็บไว้ในแบตเตอรี่แล้วยังสามารถนำไฟกลับเข้าระบบมาใช้ในบ้านผ่านสายส่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดอุทกภัยสามารถใช้รถไฟฟ้าส่งไฟไปยังสถานที่พักอาศัยให้กับผู้ประสบภัยในขณะนั้นได้
หรือช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าที่สูง ก็สามารถขายไฟกลับเข้าระบบได้ ถึงแม้ว่ากฎหมายจะยังไม่มีแต่ตัวเทคโนโลยีสามารถบาลานซ์ดีมานด์ และซัพพลายได้ อีกทั้ง แม้ว่าการใช้งานรถอีวีจะเพิ่มมากขึ้นยืนยันว่าไม่ต้องกังวลว่าไฟจะไม่พอใช้ เพราะจำนวนการใช้งานจะค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งผู้อยู่เบื้องหลังการติดตั้งระบบไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ จะคอยติดตามทำให้ระบบเข้มแข็งขึ้น ดังนั้น ตัวแบตเตอรี่จะไม่ต่างจากพลังงานทดแทน
เทรนด์การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์มาจากยานยนต์ไฟฟ้าที่ทั้ง 100% จะไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศเลย อีกทั้ง ยังสามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้ด้วย ถ้าใช้พลังงานรีนิวได้ทั้งหมด จำนวนคาร์บอนจะลดลงได้มหาศาล ทำให้การใช้พลังงานจากยานยนต์ไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในโลกนี้ สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษให้กับประเทศไทย อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างโอกาสทางธุรกิจ และแก้ปัญหา PM2.5 ถือเป็นฐานการผลิตทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ตามเป้าหมายปี 2030 รถทุกประเภทจะส่งเสริมจะเป็น ZEV โดยรัฐบาลทำในแง่ส่งเสริมการผลิตผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ ลดภาษีนำเข้าและสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศไทย และยังสนับสนุนราคาค่าไฟสำหรับผู้ให้บริการสถานีชาร์จถูกกว่าราคาปกติ อีกทั้ง ยังรัฐวางแผนติดตั้งสถานีชาร์จให้ผู้ใช้รถอีวี รวมถึงการต่อทะเบียนที่ถูกกว่า เป็นต้น ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีวี
“ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย พบว่าปี 2020-2021 มีการเติบโตจากปี 2019-2020 ถึง 2 เท่า ซึ่งในทุกปีมีการเติบโตเมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์ที่มีการลดลง ถึงแม้จำนวนจะไม่เยอะ เทรนด์ราคาจะลดลงแน่นอน” รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ การที่จะผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้นั้น จะทำคนเดียวไม่ได้ จะต้องประกอบด้วย ภาครัฐที่เป็นผู้กำกับนโยบาย อาทิ ด้านภาษี การเงิน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถจัดหา-ผลิตในราคาที่เหมาะสม ภาควิชาการต้องวิจัยทั้งด้านพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ สุดท้ายภาคประชาชนเมื่อเข้าใจเทคโนโลยี และพร้อมปรับเปลี่ยนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคารถอีวี จะยังมีราคาสูงกว่ารถน้ำมัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐพยายามทำคือ ช่วยให้ราคาถูกลง การช่วยในเรื่องเงื่อนไขโดยเฉพาะการผลิตในประเทศที่ไม่ได้ให้แค่เงินกับผู้ซื้อ แต่ยังช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ และเมื่อมีการใช้รถอีวีมากขึ้น เอกชนก็กล้าลงทุนสถานีชาร์จในพื้นที่สาธารณะ เพราะยังคงมีความจำเป็นกับกลุ่มที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์