ไทยเร่งเครื่องเปิดตลาดการค้าซาอุฯ โอกาสทองอุตสาหกรรมอาหารไทย
ไทยเดินหน้าลุยตลาดซาอุฯ ประเดิม ส่งไก่ไปขายได้ในรอบ 19 ปี เตรียมเปิดตลาดสินค้าอีกหลายรายการ โอกาสผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดซาอุ-กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
ภายหลังการเยือนซาอุดิอาระเบียของพล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือ ครั้งแรกในรอบ 30 ปีของรัฐบาลไทย ที่กระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ส่งผลดีด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะเดินหน้าบุกตลาดซาอุดิอาระเบียอย่างเต็มตัว หลังไทยถูกลดความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2531 ซึ่งตลาดซาอุฯถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากข้อมูลพบว่า การค้าไทย- ซาอุดิอาระเบีย ช่วงก่อนลดความสัมพันธ์ทางการทูต ในปี 2531 มีมูลค่าการส่งออก 18,025 ล้านบาท
หลังการลดความสัมพันธ์ทางการทูต ปี 2532-2539 มูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 23,372 ล้านบาท การส่งออกเฉลี่ยปีละ 11,004 ล้านบาท และการนําเข้าเฉลี่ยปีละ 12,368 ล้านบาท โดยปี 2532 การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯมีมูลค่า 9,267 ล้านบาท ซึ่งลดลง 48.6% จากปี 2531 ต่อมาปี 2537 ตลาดซาอุฯ ขยับลงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยจนถึงปัจจุบัน แต่ในปี 2548 สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 63.6% เนื่องจากซาอุฯเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการการค้าโลก (WTO) และมีการเปิดกว้างทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น
ล่าสุดปี 2564 การค้าระหว่างไทย –ซาอุฯ มีมูลค่า 233,075 ล้านบาท ขยายตัว 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 51,500 ล้านบาท และนําเข้าจากซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 181,574 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ปี 2564 คือ 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 3.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4.ผลิตภัณฑ์ยาง 5.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 6.ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 7.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 8.เคมีภัณฑ์ 9.เครื่องซักผ้า ซักแห้งและส่วนประกอบ และ 10.อัญมณีและเครื่องประดับ
ส่วนสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก 1.น้ำมันดิบ 2.เคมีภัณฑ์ 3.ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4.น้ำมันสำเร็จรูป 5.สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 6.พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 7.ผ้าผืน 8.ผลิตภัณฑ์โลหะ 9.แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ และ 10.เครื่องจักกลและส่วนประกอบ
ทั้งนี้ภายหลังการเยือนซาอุฯ ของนายกฯ ทางภาคเอกชนก็รับไม้ต่อโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทยได้ยกทัพภาคธุรกิจไทย 9 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ท่องเที่ยว 2. พลังงาน 3. แรงงาน 4. ความมั่นคงทางอาหาร 5. สุขภาพ 6. ความมั่นคง 7.การศึกษาและศาสนา 8. การค้าและการลงทุน และ 9. กีฬาและวัฒนธรรม เดินทางไปซาอุ ฯ เพื่อหาลู่ทางเปิดตลาด สร้างความร่วมมือทางการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันโดยเฉพาะการค้า และปูทางการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย
ด้านกระทรวงพาณิชย์ก็เร่งเครื่องหาลู่ทางเปิดประตูการค้า ประเดิมด้วยผลงานการปลดล็อค การส่งออกไก่สด ไก่แช่เย็น ไก่แช่แข็ง และแปรรูป ไปยังซาอุฯ ได้แล้ว หลังถูกห้ามนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2546 โดยสถิติการส่งออกไก่ของไทยไปซาอุฯ ปีล่าสุด 45 มียอดส่งออก 56.9 ล้านบาท และปี 46 ส่งออกไป 4.8 ล้านบาท ไทยสามารถส่งออกได้ทันที
ถือเป็นข่าวดีสำหรับการส่งออกของไทย ที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในซาอุฯ ซึ่งปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าไก่มากถึงปีละ 5.9 แสนตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส ถือเป็นการส่งออกไก่ไปยังตลาดซาอุฯครั้งแรกในรอบ 19 ปี นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชน เตรียมเปิดตลาดสินค้าอื่น ๆ ไปประเทศซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมอีก
ดังนั้นการประเดิมการค้าด้วยการส่งออก”ไก่”ได้ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเป็นลู่ทางการส่งออกสินค้าอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าด้านอาหาร ที่จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะทั้งซาอุฯและประเทศในภูมิภาคนี้ต่างเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็น"ทะเลทราย "
ขณะที่ประเทศไทยถือได้ว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก จนได้ชื่อว่า “ครัวโลก” โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2562 ซึ่งตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ไทยมีความได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองให้ประเทศไทยที่จะส่งออกสินค้าอาหารไปยังซาอุฯและประเทศอื่นในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การฟื้นสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดซาอุฯให้กลับมาเหมือนเดิม และจะเป็นการปูทางการค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางให้กว้างขึ้นเพราะซาอุฯถือเป็นพี่ใหญ่แห่งภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศ หลังจากไทยสูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจการค้ากับซาอุมามากกว่า 30 ปี