"เงินเฟ้อ" ไม่ได้ทำให้ของแพง.. "ของแพง" ต่างหาก ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ!
คำกล่าวเกี่ยวกับ "เงินเฟ้อ" ที่มักได้ยินกันจนคุ้นหูอย่าง เงินเฟ้อทำให้ของแพง แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แล้วเหตุใดเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เราจึงซื้อของได้น้อยลง ข้อเท็จจริงทั้งหมดคืออะไร ร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้
เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า "เงินเฟ้อ" คืออะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หลายคงอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เงินเฟ้อทำให้ข้าวของแพง ทั้งยังทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลงอีกด้วย
แม้ว่าคำกล่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อดังข้างต้น จะถูกยอมรับกัน และบอกต่อกันเป็นวงกว้าง แต่รู้หรือไม่ว่า ความเข้าใจนั้นมีบางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของเงินเฟ้อไป!
พอมาถึงตรงนี้ คงมีหลายคนเริ่มสงสัยว่า แล้วข้อเท็จจริงของ ลักษณะเงินเฟ้อคืออะไร ซึ่งทั้งหมดสามารถร่วมหาคำตอบได้จากข้อมูลด้านล่างนี้
- "เงินเฟ้อ" ทำให้ของแพงจริงหรือไม่?
อย่างที่เกริ่นไปแล้วในข้างต้นว่า หลายคนมักเข้าใจว่า เงินเฟ้อทำให้เกิดของแพง แต่ใช่ที่ไหนล่ะ เพราะที่จริงแล้ว ของแพงขี่ม้าเร็วมาก่อนเงินเฟ้อเสียอีก
หากอธิบายด้วยหลักการจะได้ว่า เงินเฟ้อ (Inflation) คือ “ตัวชี้วัด” ถึงสถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หรือง่ายๆ เลยคือ เจ้าเงินเฟ้อทำหน้าที่เป็นสัญญาณบอกเราว่าช่วงนี้ข้าวของแพงนะ
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อยังสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ข้าวของแพงได้อีกด้วย โดยจะแสดงผลผ่านตัวเลข “อัตราเงินเฟ้อ” (Inflation rate) ซึ่งตัวเลขยิ่งสูง ยิ่งหมายถึงสถานการณ์ข้าวของแพงที่เลวร้ายมากเท่านั้น
พอมาถึงตรงนี้ หลายคนที่เคยเชื่อว่าเงินเฟ้อทำให้เกิดของแพงชักเริ่มงง ถ้าของแพงไม่ได้เกิดจากเงินเฟ้อ แล้วมันเกิดจากอะไรกัน?
เรื่องนี้ ตอบให้เข้าใจอย่างง่ายๆ คือ ของแพงเกิดขึ้นจากความไม่เท่ากันระหว่างความต้องการซื้อสินค้าและปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์หมูแพงช่วงต้นปี เกิดจากหมูจำนวนหนึ่งติดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือ "ASF" จึงต้องทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเนื้อหมูในตลาดลดลง แต่คนก็ยังมีความต้องการซื้อหมูกินอยู่เท่าเดิม ราคาหมูจึงปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจที่บอกว่า “เงินเฟ้อทำให้ของแพง” นั้น คาดว่าน่าจะเกิดมาจากการที่ราคาสินค้าหนึ่งแพงขึ้น แล้วคนหันไปซื้อสินค้าอื่นแทน ซึ่งก็จะมีผลให้สินค้าอื่นแพงขึ้นตามไปด้วย อย่างช่วงที่หมูแพง หลายคนก็คงได้เจอกับตัวว่า เนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็แพงตามไปด้วย อาทิ ไก่และเป็ด เป็นต้น
- ทำความเข้าใจกับเงินเฟ้อให้มากขึ้น ผ่านความหมายของคำว่า “เงิน”
แม้ว่าคำอธิบายข้างต้น จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความหมายของเงินเฟ้ออย่างง่ายได้แล้ว แต่สงสัยไหมว่า แล้วทำไมเงินเฟ้อจึงทำให้เงินที่มีเท่าเดิมกลับซื้อของได้น้อยลง
ก่อนจะรู้จักเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น อยากจะขอนำทุกคนย้อนกลับไปทำความเข้าใจของคำว่า “เงิน” กันก่อน โดยอยากจะถามทดสอบความเข้าใจเบื้องต้นว่า คุณคิดว่าเงินมีค่าหรือไม่
จากคำถามดังกล่าว จริงๆ แล้วจะตอบว่า มีค่า หรือ ไม่มี ก็ถูกทั้งคู่ แต่คำอธิบายของคำตอบนี้ต่างหากที่จะบอกว่าคุณเข้าใจคำว่าเงินดีขนาดไหน
“เงิน” นิยามของมันคือ สื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ เงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อสามารถใช้เปลี่ยนไปเป็นสิ่งของต่างๆ ได้ ซึ่งหมายความว่า เงินไม่ได้มีค่าโดยตัวมันเอง การที่เราเก็บเงินไว้ ก็เกิดขึ้นเพื่อสำรองไว้ใช้เปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการในเวลาที่ต้องการ ซึ่งหากเงินไม่สามารถทำหน้าที่ของมันตามนิยามนี้ได้ มันก็จะไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษเลย
ด้วยนิยามนี้ จึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเมื่อเกิดเงินเฟ้อจึงถูกอธิบายได้ด้วย “มูลค่าที่แท้จริงของเงิน” โดยอธิบายได้ดังนี้
เมื่อเงินมีค่าเพียงใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้า เวลาที่สินค้าถูกผลิตออกมามีน้อยกว่าความต้องการซื้อของผู้คน เลยจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อสินค้านั้นได้ เนื่องจากการตั้งราคาค่าตัวที่สูงขึ้นตามความต้องการ ซึ่งการที่ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ซื้อสินค้านี้ มูลค่าที่แท้จริงของเงินจึงลดลง
ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ปกติเราซื้อเนื้อหมูด้วยเงินจำนวน 100 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมาเมื่อหมูขาดตลาด ราคาหมูจึงแพงขึ้นเป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลให้เงินจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้อหมูในปริมาณ 1 กิโลกรัมเท่าเดิมได้แล้ว
สถานการณ์ข้างต้นนี้คือ เรายังมีจำนวนเงินเท่าเดิม เพียงแต่มูลค่าที่แท้จริงนั้นลดลง เพราะมูลค่าที่แท้จริงของเงินนั้นขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ
ฉะนั้น การที่เราใช้เงินเท่าเดิมแต่กลับซื้อสินค้าได้น้อย จึงเป็นการบอกถึงเศรษฐกิจที่กำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนธรรมดาอย่างเราๆ เพราะมูลค่าเงินที่แท้จริงในมือนั้นจะลดลง แม้จะมีจำนวนเท่าเดิมอยู่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเงินเฟ้อจะมีแต่ผลเสีย เพราะการที่เศรษฐกิจเจอกับเงินเฟ้อในระดับหนึ่งนั้นกลับถือเป็นเรื่องที่ดี
การที่สินค้าแพงขึ้น ในอีกทางหนึ่ง อาจเกิดขึ้นจากผู้คนมีกำลังซื้อที่มากขึ้น สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาให้ธนาคารกลางในหลายประเทศใช้การกำหนดกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เพื่อช่วยในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ
ดังนั้น เงินเฟ้ออาจไม่ใช่ตัวร้ายของเศรษฐกิจเสมอไป เพราะในขณะหนึ่ง เงินเฟ้อคือ ตัวชี้วัดที่คอยบอกว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ถึงกระนั้น การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่พอดีนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปนี้ มีผลให้ผู้คน และธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะย้อนกลับไปส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในที่สุด
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์