"สกพอ." จับมือ "สถาบันพระปกเกล้าฯ" ดันหลักสูตรพัฒนาผู้นำท้องถิ่นในอีอีซี

"สกพอ." จับมือ "สถาบันพระปกเกล้าฯ" ดันหลักสูตรพัฒนาผู้นำท้องถิ่นในอีอีซี

"สกพอ." ร่วมมือสถาบันพระปกเกล้า จัดทำ “หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เสริมความแข็งแกร่งด้านข้อมูล อีอีซี แก่ผู้นำ อปท. ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ เตรียมพัฒนาสู่การเป็น e-Government

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( สกพอ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง สกพอ. และ สถาบันพระปกเกล้า ว่า สกพอ.เล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่ อีอีซี เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับประชาชน สามารถเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ อีอีซี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะต่าง ๆ ให้กลุ่มผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ได้รับทราบ เกิดการจุดประกายความคิดและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวคิด และการดำเนินงานอย่างเหมาะสม สกพอ. จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันพระปกเกล้า จัดการศึกษาอบรม “หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ขึ้น

โดยมีเป้าหมายหลักในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหน่วยงาน พื้นที่ ชุมชน และประชาชน เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนของตนต่อไป

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า สกพอ.และสถาบันพระปกเกล้า จะประสานความร่วมมือกันในด้านวิชาการ โดยจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอีอีซี

ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตลอดจนการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคลากร โดยมีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ หลักธรรมาภิบาล และแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ ในปัจจุบัน

 

 

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในด้านทรัพยากร ด้วยการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ ในการให้ความรู้และการบรรยายทางวิชาการ และความร่วมมือด้านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ กิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม การพัฒนาชุมชน และการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ