“จุรินทร์” เร่งประชุมร่วม 3 ฝ่าย ลดผลกระทบราคาอาหารสัตว์
“จุรินทร์” เร่งประชุมร่วม 3 ฝ่าย ลดผลกระทบราคาอาหารสัตว์พุ่ง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เน้นทุกฝ่ายอยู่ได้ ย้ำ ราคาสินค้าสำคัญ 18 หมวดยังไม่ขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นการดูแลเกษตรกร และผลกระทบจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายจุรินทร์ กล่าวว่าเรื่อง อาหารสัตว์ ยังรอประชุมร่วมทุกฝ่ายให้เห็นตรงกันซึ่ง วันพรุ่งนี้(23 มี.ค.65)ช่วงบ่ายจะมีการประชุมร่วมระหว่างส่วนราชการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรมี 2 ส่วน 1.ชาวไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง
2.ปศุสัตว์ ที่มีผลกระทบเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์สูง ทำให้ราคาเนื้อสัตว์มีต้นทุนสูงขึ้น และผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหารือให้มีข้อยุติร่วมกัน เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนสำคัญ
1.ราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท จากกิโลกรัมละ 6-8 บาท และที่สำคัญข้าวสาลีราคาสูงขึ้นมากในตลาดโลก เพราะผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือ ยูเครนกระทบมาก ทำให้ต้นทุนนำเข้าข้าวสาลีสูงขึ้นมาก ต้องมาดูว่ามาตรการเดิมที่กำหนดช่วยชาวไร่ข้าวโพดไว้ที่นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน 1:3 ในสถานการณ์นี้ยังมีความเหมาะสมหรือไม่
ซึ่งมีความเห็นผ่อนมาตรการนี้เป็นการชั่วคราวเพื่อไม่ให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นจนเกินไปและกระทบราคาเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องจึงต้องคุยกันให้จบ เพื่อไม่แก้ปัญหาหนึ่งแล้วไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง วันพรุ่งนี้จะมีการคุยกันอีกครั้งถ้ามีความจำเป็นต้องเดินหน้ากระบวนการอย่างไรรวมถึงเข้า ครม.ก็จะดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
และขณะนี้การกำกับราคาสินค้า ยังอยู่ในระดับที่ดี คือราคาสินค้าหลายตัวที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค ยังทรงอยู่ทั้ง 18 หมวดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังไม่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น หมูเนื้อแดงเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 151 บาท ล่าสุดเมื่อวาน(21 มี.ค.65) ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.50-3.60 บาท ราคามะนาวเฉลี่ยทั้งประเทศลูกละ 5 บาท เนื่องจากเข้าหน้าแล้ง จะเป็นทุกครั้งและมาเจอกับพายุเมื่อไม่กี่วันทำให้ลูกร่วงเป็นประเด็นปัญหาทำให้มะนาวในตลาดลดน้อยลง เป็นช่วงระยะเวลาที่เป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ถาวร สำหรับต้นทุนราคาสินค้าขึ้นอยู่กับ สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้นเหตุของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก เกี่ยวพันถึงต้นทุนการผลิตอื่นๆทั้งหมด ในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบทั้ง อาหารสัตว์ ปุ๋ยสูงตามขึ้นไปทั้งหมด ไม่เกิดเฉพาะบ้านเรา
“เราพยายามจะคลี่คลายตามสิ่งที่เราทำได้เต็มที่และพยายามดูมาตรการผ่อนคลายให้ทั้ง 3 ฝ่าย เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยู่ด้วยกันได้ภายใต้ภาวะการสงครามที่เกิดขึ้น ถ้าสงครามคลี่คลายตนคิดว่าทุกอย่างจะกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว