เงินเฟ้อ - น้ำมันแพง "พ.ร.ก.กู้เงิน" แก้ได้
รัฐบาลไทยต้องหาหนทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนท่ามกลางผลกระทบจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และการระบาดของโควิด ที่กระทบมาในมิติต่างๆ เพื่อให้ไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นทางออกสุดท้าย
ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนที่รัฐบาลไทยประเมินสถานการณ์ความยืดเยื้อของสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยการประกาศมาตรการลดค่าครองชีพ 10 มาตรการ ซึ่งประมาณการว่าจะวงเงิน 82,000 ล้านบาท ครอบคลุมการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยคาดการณ์ว่าระหว่างนั้นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทั้งในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ส่งออกน้ำมันผลิตน้ำมันเพิ่มและทำให้ราคาน้ำมันลงมาในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะทำให้รัฐบาลบริหารสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น แต่หากภายใน 3 เดือนสถานการณ์อาจลุกลามมากขึ้นอาจมีความจำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน เพื่อรองรับสถานการณ์เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ในที่สุด
เนื่องจากยังมีปัจจัยการปรับตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานโดยในเดือน ม.ค.เงินเฟ้อขยายตัวที่ 3% ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 5% และสถานการณ์ในประเทศอาจส่งผลให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจควรมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดก่อนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการ
แม้ว่าจะมีการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ 24.2 ล้านคน คิดเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาทก็ตาม
อย่างไรก็ตามมี การเสนอให้การปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติมตั้งแต่ 1 มิ.ย.2565 เกี่ยวกับเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากเดิมกำหนดให้ตรวจเชื้อ 3 ครั้ง รวมทั้งก่อนและหลังเดินทางถึงไทย ครั้งที่ 1 ตรวจที่ประเทศต้นทางก่อนการเดินทางด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 2 ตรวจในประเทศไทยด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง ครั้งที่ 3 ตรวจด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5
โดยหลักเกณฑ์ใหม่ ปรับให้เหลือเฉพาะการตรวจที่ประเทศไทยเมื่อเดินทางมาถึงแล้ว โดยตรวจครั้งที่ 1 ด้วยวิธี RT-PCR และตรวจครั้งที่ 2 ด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5 เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะให้มีรายได้เข้าประเทศ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องรักษายอดผู้ติดเชื้อที่ไม่เกิน 50,000 - 60,000 คนต่อวัน (รวมยอดผลตรวจ ATK เป็นบวก) และมียอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน
ทั้งนี้ การปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทุกภาคส่วน เพราะหากสามารถทำได้ จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน
และจะมีการฟื้นตัวด้านรายได้การท่องเที่ยวของปีนี้อยู่ที่ 30% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ซึ่งปิดที่ 3 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2566 คาดรายได้ฟื้นตัว 50% และในปี 2567 รายได้ฟื้นตัว 100% เพราะรายได้หลักของประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่รัฐบาลไทยอาจจะไม่ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน