ก.ล.ต.เล็งเพิ่มโทษ ‘ปั่นหุ้น-อินไซด์เทรดดิ้ง’ ยกระดับการใช้กฎหมาย
ก.ล.ต.กางแผนบังคับใช้กฎหมายปี 65 เล็งเพิ่มโทษปั่น-อินไซด์หุ้น เอาผิดคนรับข้อมูล พร้อมทบทวนโทษทางแพ่ง หลังเจอปัญหา “เจอ จ่าย จบ” เสนอแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.สอบสวน-คุ้มครองพยาน
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในปี 2565 ก.ล.ต.มีแผนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้น (ปั่นหุ้น) และการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์เทรดดิ้ง) เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมกฎหมายดังกล่าวจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลภายในเท่านั้น แต่กฎหมายใหม่จะเอาผิดทางกฎหมายกับบุคคลที่ได้รับข้อมูลด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะใช้มาตรการในเชิงป้องกันผ่านการให้ความรู้ว่าการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายการปั่นหุ้นและอินไซด์เทรดดิ้ง รวมถึงการนำเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Machine Learning) มาช่วยตรวจสอบธุรกรรมที่มีความผิดปกติ เพื่อป้องกันและยับยั้งการกระทำความผิดตั้งแต่ต้น
ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต.มีแผนประเมินและทบทวนประสิทธิผลของมาตรการลงโทษทางแพ่งด้วยในปีนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำนักงานฯ ใช้ลงโทษผู้กระทบผิดมามากกว่า 5 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2559) จึงเห็นสมควรต้องทบทวนประสิทธิผล แม้มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้การดำเนินการกับผู้กระทำผิดทำได้เร็วและมีประสิทธิผล แต่ยังมีข้อเสียที่เรียกกันว่า “เจอ จ่าย จบ” กล่าวคือ เมื่อผู้กระทำผิดมาจ่ายค่าปรับก็จบไป ไม่ได้เกิดความเกรงกลัวในการดำเนินการของ ก.ล.ต.
ในส่วนของมาตการลงโทษทางอาญา อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ ก.ล.ต.มีอำนาจในการสอบสวนก่อนส่งเรื่องไปยังอัยการ จากเดิมต้องดำเนินการผ่านพนักงานสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมามีการร่วมมือกับตำรวจด้านเศรษฐกิจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และตำรวจด้านเทคโนโลยี แต่ยังมีอุปสรรคในแง่ที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจที่มีลักษณะเฉพาะในการสอบสวน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพยานให้เข้ามาอยู่ในกฎหมายหลักทรัพย์ โดยเฉพาะพยานบุคคล ซึ่งเป็นพยานสำคัญในการสนับสนุนการจับผู้กระทบความผิด จากเดิมพยานบุคคลมักเกรงกลัวการให้ข้อมูล เนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลใกล้ชิด หรือเป็นบุคคลที่พยานอยู่ใต้อิทธิพล โดยหวังว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้มาตรการอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายศักรินทร์ กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ก.ล.ต.มีแผนบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลการซื้อขายมากขึ้น ทั้งการดูแล Front-line Regulator หรือศูนย์การซื้อขาย (Exchange) ให้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตลาด ดูแลผู้ออกเหรียญให้เปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน รวมถึงดูแลสภาพการซื้อขาย ซึ่งอาจพิจารณาเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องหมายหยุดซื้อขาย หรือเพดานซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่ง-ฟลอร์) เป็นต้น