บล.กสิกรไทย เปิด 3 ปัจจัยกดดันหุ้นไทยเดือน เม.ย. จ่อปรับตัวลดลง
บล.กสิกรไทย มองหุ้นไทยจะแกว่งไซด์เวย์ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และมีโอกาสปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. จาก 3 ปัจจัยกดดัน ได้แก่ เฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด, สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ และไอเอ็มเอฟจ่อหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะที่ธปท. เตรียมปรับลดจีดีพีไทย
บล.กสิกรไทย มองตลาดหุ้นโลกในช่วงโค้งสุดท้ายของเดือน มี.ค. ยังผันผวน ยังไม่ใช่ขาขึ้นในระยะยาว โดยตลาดหุ้นสหรัฐยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อมากกว่าฝั่งยุโรป ตามทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาขึ้น ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐานลงมามากนับตั้งแต่ต้นปี หรือ – 9% นับตั้งแต่ต้นปี
และในภาวะที่ตลาดเริ่มกังวลเศรษฐกิจจะชะลอตัว (Recession) มากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามมากกว่าประเทศอื่นๆ จะทำให้ Fund Flow ไหลเข้าสกุลเงินดอลลาร์, และหุ้นกลุ่ม Tech ของฝั่งสหรัฐ
ส่วนฝั่งเอเซียคาดเริ่มชะลอการปรับขึ้นและแกว่งตัว เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย KS คงมุมมองทิศทางจะแกว่งตัว Sideway ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และที่สำคัญ เดือนเม.ย. 65 ประเมินตลาดมีโอกาสจะปรับลง เนื่องจาก
1. การใช้นโยบายการเงินตึงตัวของ Fed ตลาดหุ้นจะเริ่มรับรู้และถูกแรงกดดันจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 25bps และ Fed จะเริ่มมาตรการ QT หรือ Quantitative Tightening เห็นได้จากล่าสุด ประธาน Fed ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish)
KS ประเมินว่าในปีนี้ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 25bps คือคาดขึ้นแรงกว่าปกติ โดยเป็นการปรับขึ้นเพื่อมีช่องว่างในการปรับลงในอนาคต เพื่อรองรับเศรษฐกิจชะลอตัวในอนาคต สอดคล้องกับมุมมองตลาด สะท้อนผ่าน EURO Dollar บ่งชี้ว่าตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะเริ่มปรับลงในช่วงกลางปี 66
2. สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีโอกาสที่จะยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงช่วงต้น 2Q65 ล่าสุด การประชุม NATO กลุ่มประเทศตะวันตกได้ตกลงกันที่จะเพิ่มการช่วยเหลือยูเครน และขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียต่อ และล่าสุดสหรัฐประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่ม คือ มุ่งไปที่ ส.ส.รัสเซีย 328 คน และบริษัทด้านการป้องกันประเทศ 48 แห่ง
ในระยะยาวเชื่อว่าประเทศพันธมิตรยูเครน อาทิ ยุโรป สหรัฐ จะยังคงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อ ประเมินมีโอกาสคว่ำบาตรต่อ Economic Sanction มีโอกาสยืดเยื้อ คล้ายกับ Trade war สหรัฐ – จีนที่ยังมีอยู่ เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรงตัวระดับสูง
3. ช่วงต้น เม.ย.65 ตลาดหุ้นโลกจะเผชิญกับ IMF Downgrade GDP Growth โดย KS ประเมินมีโอกาสที่โทนการปรับลงในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปมีโอกาสถูกปรับลด GDP ลงเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ส่วนไทยประเมินจะเห็นแรงกดดันจาการปรับลด GDP ไทยเช่นกัน ในการประชุม กนง. วันที่ 30 มี.ค. 65 ติดตาม ธปท. เตรียมหั่นประมาณการ GDP ปี 65 ที่เดิมคาดว่าจะโต 3.4% เหตุจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง คาดจะเห็นการทยอยการปรับลด มองการปรับลดเป้า GDP จะเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่ม Domestic play ได้แก่ กลุ่มธนาคาร อสังหาฯ ค้าปลีก และท่องเที่ยว
โดยรวม KS ยังคงคำแนะนำในช่วงนี้ คือ ไม่เพิ่มน้ำหนักพอร์ตการลงทุน ประเมินหุ้นไทยจะเป็นลักษณะแกว่งตัวผันผวน ยังแนะนำหากตลาดหุ้นขึ้นมาให้ขายทำกำไร โดยประเมินแนวต้าน 1,690 และ 1,705 จุด เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ตลาดหุ้นไทยจะย่อตัวในช่วง 2Q65
กลยุทธ์การลงทุน : กลุ่มที่แนะนำลงทุนในช่วงนี้ คือ กลุ่มเครื่องดื่ม (SAPPE, CBG, OSP) กลุ่มการเงิน (TIDLOR, ASK ,THANI, AEONTS, BAM) กลุ่ม Tech Consult อาทิ (BBIK, BE8) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GPSC, SSP) และ กลุ่ม ICT (DTAC, TRUE)
ส่วนแนวโน้มตลาดห้นไทยสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,670 -1,690 จุด โดยหุ้นแนะนำประจำสัปดาห์หน้า ได้แก่ TIDLOR (ราคาพื้นฐาน 52.00 บาท)
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มการเงินจาก 1) มูลค่าหุ้นที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น 2) ความสามารถในการรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปี 65 และ 3) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ลดลง
เราชอบกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถเป็นหลักประกัน>สินเชื่อรถบรรทุก>บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล> AMC หุ้นเด่นของเราคือ TIDLOR โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 20-25% ในปี 65 จากการเปิดสาขาและการออกบัตรกดเงินสดสำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ มูลค่าหุ้นปัจจุบันมีราคาถูก เนื่องจากหุ้นซื้อขายที่ PER ปี 65-66 ที่ 22 เท่า/17 เท่า คิดเป็น PEG ต่ำกว่า 1 เท่า เมื่อเทียบกับการเติบโตของกำไรที่คาดการณ์ไว้ที่ 25% ในปี 65-66
ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
-28 มี.ค. : ดุลการค้าของสหรัฐเดือน ก.พ. และ สินค้าคงคลังในกิจการค้าปลีกไม่รวมธุรกิจยานยนต์ เดือน ก.พ. ดัชนีธุรกิจภาคการผลิตของธนาคารกลางรัฐดัลลาส เดือน มี.ค.
-29 มี.ค. : อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. ตลาดคาด 2.7%YoY จาก 2.8% ในเดือน ม.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน GfK เดือน มี.ค. ตลาดคาด -6.3 จาก -8.1, รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี (CB Consumer Confidence) เดือน มี.ค.ตลาดคาด 108 จุด จาก 110.5 จุดในเดือน ก.พ.
-30 มี.ค. : การจ้างงานภาคนอกภาคเกษตรกรรมจากเอดีพี (ADP) เดือน มี.ค. ตลาดคาด 4 แสนตำแหน่ง จาก 4.75 แสนตำแหน่ในเดือน ก.พ. , GDP สหรัฐงวด 4Q21 ตลาดคาด 7.1% QoQ จาก 7% QoQ ในงวด 3Q21
-31 มี.ค. : ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. , ติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน เดือน มี.ค., ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) (ไตรมาส 4) ของอังกฤษ, อัตราการว่างงานของยุโรป เดือน ก.พ. ตลาดคาด 6.7% จาก 6.8% ในเดือน ม.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเขตชิคาโก เดือน มี.ค.
-1 เม.ย. : อัตราการว่างงานสหรัฐ เดือน มี.ค. ตลาดคาด 3.7% จาก 3.8% ในเดือน ก.พ., ดัชนี ISM Manufaturing PMI ของสหรัฐเดือน มี.ค. ตลาดคาด 58.5 จุด จาก 58.6 จุด ในเดือน ก.พ., รายจ่ายลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากการสำรวจ Tankan ของญี่ปุ่น (ไตรมาส 1) ตลาดคาด 4.4%, ดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ๋จาการสำรวจ Tankan ของญี่ปุ่น (ไตรมาส 1) ตลาดคาด 12 จุด