ส่อง ‘เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย’ แข็งแรงพอไหม เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

ส่อง ‘เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย’ แข็งแรงพอไหม เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

ทุกครั้งที่เกิดภาวะวิกฤติที่กระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ คำถามที่ตามมาคือประเทศของเราจะสามารถรับมือกับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นได้หรือไม่? และสามารถที่จะรับมือกับวิกฤติได้นานแค่ไหน?

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยต้องเจอผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมานานกว่า 2 ปี รวมถึงภาวะราคาน้ำมันและพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางรายได้ที่ลดลง

ภาวะปัจจุบันจึงเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ในแบบที่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวไว้

ทั้งนี้เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยถูกท้าทาย จนพังพาบที่สุดคือเหตุการณ์ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 ตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้เงินทุนสำรองของประเทศในการสู้กับการเก็งกำไรและโจมตีเงินบาทเพื่อจะพยุงค่าเงินเอาไว้จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือแค่ 2,500 ล้านดอลลาร์ภายในไม่กี่เดือน จากที่มีอยู่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์

เมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาททำให้อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยอยู่ที่ระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เกิดวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ตามมาจนประเทศไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเข้าสู่โปรแกรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่หลายปี

แม้จะผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนั้นมานานกว่า 2 ทศวรรษแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติสิ่งที่รัฐบาลจะต้องอธิบาย และให้ความเชื่อมั่นกับสังคมก็คือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เหลือเท่าไหร่ และเงินคงคลังมีอยู่เท่าไหร่ รวมทั้งระดับหนี้สาธารณะของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อให้เห็นข้อมูลที่เป็นรูปธรรมว่าความแข็งแรงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร

ในการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบสงครามยูเครน – รัสเซีย ของรัฐบาล ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง ใช้โอกาสนี้ในการยืนยันถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติมาตลอดระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากโควิด-19 และวิกฤติเงินเฟ้อในระดับสูงที่เกิดขึ้นจากระดับราคาน้ำมัน และสินค้าในหมวดพลังงานอื่นๆที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รมว.คลังบอกว่าในปัจจุบันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่ายังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินคงคลัง ณ เดือน ก.พ.2565 อยู่ที่ 4.18 แสนล้านบาท โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.64 – ก.พ.65) รัฐบาลมีการนำส่งรายได้เข้าคลังทั้งสิ้น 9.01 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1.42 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 3.94 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมที่ควรอยู่ที่ระดับ 4 – 5 แสนล้านบาท

 

ส่อง ‘เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย’ แข็งแรงพอไหม เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาและมีเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

ส่วนเมื่อพิจารณาจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี พบว่า ณ เดือน ม.ค.2565 ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 59.9% ต่อจีดีพี จากเพดานหนี้สาธารณะที่อยู่ที่ระดับ 70% ถือว่าหนี้สาธารณะในปัจจุบันต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลัง

นอกจากนี้หนี้สาธารณะของไทยยังเป็นหนี้สกุลเงินบาท ไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศเพียง 1.81% เท่านั้น และหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่คือประมาณ 93.66% เป็นหนี้สินระยะยาวเป็นหลักซึ่งสามารถบอกได้ว่าเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี  

ส่วนการจัดเก็บงบประมาณในปี 2565 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาทำได้สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย และคาดว่าในปีงบประมาณนี้จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าที่ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้การกู้ขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาทตามแผนที่วางไว้

สำหรับในส่วนของอัตราเงินเฟ้อต้องยอมรับว่าในปีนี้เศรษฐกิจที่มีปัญหาคือเรื่องของดัชนีราคาซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากการปรับตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานโดยในเดือน ม.ค.เงินเฟ้อขยายตัวที่ 3% แต่หากดูเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจาก 0.5 – 1.8% เท่านั้น

ส่อง ‘เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย’ แข็งแรงพอไหม เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

 

ส่วนการคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 5% นั้นจะต้องดูอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี หากเกินกว่ากรอบเงินเฟ้อฟื้นฐานที่กำหนดไว้ที่ 3% จะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมอีกครั้ง

นอกจากนี้เมื่อดูองค์ประกอบอื่นๆในเรื่องของอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 พบว่าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราว่างงานลดลงตามลำดับตามการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อได้

ส่อง ‘เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย’ แข็งแรงพอไหม เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ