คลังยันรัฐบาลไม่ถังแตกเงินคงคลัง2.8แสนล.

คลังยันรัฐบาลไม่ถังแตกเงินคงคลัง2.8แสนล.

คลังแจงกู้เงิน​ 2.14 แสนล้านบาท​ เพื่อเตรียมการสำหรับใช้จ่ายต้นปีงบประมาณหน้า​ เหตุเลื่อนเวลาชำระภาษีกระทบยอดรายได้​ ยันเงินคงคลังเพียงพอ​ ล่าสุดยอดอยู่ที่​ 2.8​ แสนล้านบาท

กระทรวงการคลังชี้แจงกรณีที่ได้มีกระแสข่าวว่าคลังถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้ จนคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาทนั้น
กระทรวงการคลัง ขอเรียนชี้แจงว่า​ การขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทย​ ซึ่งพึ่งพิงต่างประเทศค่อนข้างมากทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID – 19 อย่างต่อเนื่อง

การหดตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนการดำเนินมาตรการด้านการคลังต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีได้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ วงเงิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณากู้เงินตามความจำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 282,141 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป

ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเต็มกรอบวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ระดับ 51.64/ ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติแล้วจะเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และสามารถดูแลประชาชนและประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงวิกฤติครั้งนี้ไปได้