ส.อ.ท.ชู “บีซีจี-ลดคาร์บอน” ขับเคลื่อน“ ฟิวเจอร์ อินดัสทรี”

ส.อ.ท.ชู “บีซีจี-ลดคาร์บอน” ขับเคลื่อน“ ฟิวเจอร์ อินดัสทรี”

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมสามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 พร้อมทั้งเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท.วาระปี 2565-2567 แทน “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท.คนที่ 15 ที่ดำรงตำแหน่งประธานมา 3 สมัย

โดยได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย” เพื่อเสนอนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยต่อรัฐบาล 

สุพันธุ์ กล่าวว่า การเติบโตของจีดีพีในหลายประเทศไม่ได้เกิดขึ้นจากการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักหรือการนำเข้าลงทุนรายใหญ่จากต่างชาติเท่านั้น แต่เป็นส่วนผสมของการเลือกทำในสิ่งที่ประเทศมีความถนัดและได้เปรียบอยู่เป็นทุนเดิม

โดยภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายและจำต้องเปลี่ยนแปลง โดยการมุ่งผลักดันและส่งเสริมในสิ่งที่ไทยมีความเชี่ยวชาญอีกทั้งได้เปรียบอยู่เป็นทุนเดิม ในแต่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับความได้เปรียบของไทยซึ่งมีทั้งสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่สมบูรณ์พร้อมในการทำเกษตรกรรม ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สิ่งที่ไทยควรโฟกัสคือการใช้ประโยชน์ในจุดเด่นนี้ โดยการปรับตัวเองเข้าสู่การผลิต Future Food ด้วยการเปลี่ยนระบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรสมัยใหม่ ที่มีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีให้เกิดการผลิตอย่างแม่นยำ โดยใช้ทรัพยากรที่ประหยัด ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน

นอกจากนี้ ควรผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านผลผลิตการเกษตรและอาหาร โดยเริ่มจากการช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรต่ำลง เมื่อต้นทุนต่ำลงแล้วจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นในขณะที่วัตถุดิบที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมเองก็จะมีราคาต่ำ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์บีซีจี

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green) มีความจำเป็นอย่างยิ่งบนเวทีโลก เนื่องจากความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กำลังเป็นประเด็นที่ร้อนแรงรวมทั้งบนทุกเวทีการประชุมของโอเปคของภาคเอกชน ซึ่งบางประเทศมีการตั้งกำแพงภาษีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ปลดปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก

ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานในการผลิต และการสร้างความยั่งยืนอาทิ การผลิตที่สามารถหมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างขยะเท่ากับศูนย์ (zero waste) และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของไทยได้รับการยอมรับและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ โดย ส.อ.ท. ได้มีการจัดตั้ง สถาบัน Carbon credit เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“คนไทยมีความสามารถ รวมทั้งฝีมือที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก อาทิ ด้านงานออกแบบผ้าไทยและเครื่องประดับ แต่ส่วนมากยังขาดเรื่องการทำให้แบรนด์สินค้าติดตลาด หากสามารถสร้างแบรนด์ให้ตรงจุดและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐก็สามารถดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกได้”

ในขณะที่งานบริการก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ไทยมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก จากผลงานของระบบสาธารณสุขในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าไทยมีความสารมารถในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

รวมไปถึงความพร้อมด้านบริการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมาตรฐานระดับโลกอยู่มากมาย จึงมีความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) การเป็นเประเทศที่รองรับกลุ่ม Digital Nomad หรือต่างชาติที่มีรูปแบบการทำงานแบบ Workcation เข้ามาทำงานและพักผ่อนไปด้วยในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการใช้จ่ายและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งให้ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น การขนส่งทางบกทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์สำหรับภาคอุตสาหกรรมมีราคาที่ต่ำลง

การส่งเสริมนวัตกรรม โดยเร่งพัฒนาผู้ประกอบการผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากพื้นฐาน 

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้มีการขับเคลื่อนกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกส.อ.ท.ด้วยการจูงใจทางภาษี เพื่อให้เอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่มากกว่า 90% ในไทยอยู่รอดได้บนความท้าทายในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐควรขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้มีีความต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อเพิ่มความอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปราบปรามคอรัปชั่น

“อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่ใช่แค่การตามกระแสโลกเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรม ด้วยการผลักดันและสร้างคุณค่าจากสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยอย่างแท้จริง" 

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากมาย และคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมไทย จะหันกลับมาส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีศักยภาพและขับเคลื่อนให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบอเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพราะ Future Industry จะไม่ใช่อนาคตที่ไกลตัวอีกต่อไป