‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ SCB ดันไทย เป็น’ดิจิทัลฮับ’ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เอสซีบี” ชี้ผู้นำประเทศชี้ช่อง ให้คนในประเทศสามารถหาโอกาสภายใต้ความผันผวนไม่แน่นอน หวังไทยเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน แนะรัฐ แก้กฏระเบียบให้ทันโลก
เนชั่นกรุ๊ป จัดงานดินเนอร์ทอล์ค “Nation Dinner Talk : THAILAND FUTURE อนาคตประเทศไทย 2022” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี วานนี้ (28 มี.ค.) เพื่อนำเสนอทิศทางอนาคตของประเทศจากภาคเอกชนและพรรคการเมือง ที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่กำลังเจอทั้งวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติพลังงานราคาสูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและทั่วโลก ต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งในฐานะที่อยู่วงการธนาคารได้สัมผัสและเห็นผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร ทั้งขนาดใหญ่ รายย่อยที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง
โดยที่ยังไม่รู้ว่าโลกจะกลับไปเหมือนก่อนโควิด-19 ได้เมื่อไหร่ แต่ประเทศต้องสามารถอยู่ได้และต้องเดินหน้าต่อภายใต้ความผันผวนความไม่แน่นอน ซึ่งหากเป็นประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อม หรือตระหนักในการเตรียมสถานการณ์รองรับความผันผวน จะยิ่งเจอความเหลื่อมล้ำและความได้เปรียบเสียเปรียบมากขึ้น
สำหรับปัจจัยเหล่านี้คือความท้าทายของประเทศไทย ของเราทุกคน เพราะขณะนี้เราอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะภายใต้ความผันผวน มีความไม่แน่นอน และจะยังคงมีความผันผวนที่สูงและทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นเราต้องเลิกคาดหวัง ว่าเราจะกลับไปสู่โลกสงบสุข เหมือนก่อนโควิด เหมือนตอนที่ยังไม่มีสงครามทางการเมือง หรือก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆทั่วโลก
ผู้นำประเทศชี้ทางรอด
ดังนั้นเราจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศเรา สามารถอยู่รอดกับสภาพแวดล้อมที่ผันผวนและไม่แน่นอนแบบนี้ได้และทำให้คนไทยเห็นโอกาสและสามารถฉกฉวยโอกาสภายใต้ความผันผวนและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ “ผู้นำ” ต้องสร้าง และต้องชี้ทางที่ชัดเจนให้คนในประเทศ อย่างน้อยให้สามารถฉกฉวยโอกาสจากความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้
หากดูการใช้ดิจิทัลของรายย่อย (Digital consumer) ปัจจุบันในเอเชียมีดิจิทัลคอนซูเมอร์ ถึง 350 ล้านคนในสิ้นปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้ดิจิทัล และพบว่ามีการขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่า สิ้นปีนี้การใช้ดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นสู่ 400 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการใช้ดิจิทัลมากขึ้น
โดยไทยและฟิลิปปินส์ มีความก้าวหน้ามากในด้านดิจิทัล และมองว่าดิจิทัลสามารถเข้ามาช่วยเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจที่สร้างโอกาสใหม่ทั้งภาคอุตสาหกรรมและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เซาท์อีสเอเชีย
ทั้งนี้มองว่าในช่วง 10ปีข้างหน้า มองว่าโอกาสละขนาดของการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งเอเชียจะขยายตัวมากกว่า 5 เท่า หรือ 1ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าและการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
หวังไทยเป็นดิจิทัลฮับ
นอกจากนี้ อนาคตของประเทศไทย มองว่าต้องทำหลายอย่าง โดยส่วนตัวอยากเห็นประเทศไทยสร้างเป้าหมายเป็นดิจิทัลฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมอยากเห็นภูเก็ตเป็นดิจิทัลฮับของเมืองไทย และเป็นฮับของภูมิภาค แทนสิงคโปร์ และเชียงใหม่ และอีอีซี เหมือนเฉิงตูและเสิ่นเจิ้น ในด้านเทคทาเลนท์
นายอาทิตย์ กล่าวว่า การเป็นดิจิทัลฮับได้ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ โดยหากจะให้ภูเก็ตเชียงใหม่เป็นฐาน เป็นศูนย์กลาง หรือแซนบล็อก การสร้างให้คนรุ่นใหม่ให้มีการใช้แพลตฟอร์ม มาใช้เปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจ และพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนไทย ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อปัจจัยสี่ บ้าน รถ และเปลี่ยนวิธีคิด ให้คนไทยนำเงินออมออกมาใช้เพื่อการลงทุน มากกว่านำเงินไปซื้อปัจจัยสี่ แล้วเป็นหนี้และสร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนในอนาคต
ทั้งนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เป็นอีวีเบส เพื่อทำให้ต้นทุนและคุณภาพดีขึ้น ถูกลง ในเมืองไทยและลดภาระหนี้ครัวเรือนในทางอ้อมได้ด้วย
สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องชักนำ การทำให้ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนความระเบียบ กฎหมาย ให้ทันกับโลกที่ผันผวน และไม่แน่นอน ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำอย่างไรให้กระบวนการเปลี่ยนระเบียบราชการต่างๆ ให้มีตัวชี้วัดหรือเคพีไอ มีเป้าหมายที่ชัดเจน
และต้องทำให้กระบวนการกฎหมายรวดเร็วพอ มีความรู้มากพอ และสามารถทดลองได้มากพอ การนำเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างอีอีซี การนำแซนบล็อกมาทดลองเพื่อให้การเปลี่ยนระเบียบราชการมาใช้ในแนวทางใหม่มากขึ้น
“เราไม่มีเวลามากพอที่จะสามารถมารอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงผันผวน และรุนแรง รวดเร็ว ดังนั้นต้องเอา Mission เป็นตัวตั้งต้องทำกฎหมาย กฎระเบียบให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้”