SVT-FORTH-SABUY งัดกลยุทธ์ชิงศึกตู้กดอัตโนมัติ
พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีหันเข้าหาดิจิทัลมากขึ้นหลังยุคโควิด-19 ยังทำให้เกิดธุรกิจดาวเด่นที่ชิงกำลังซื้อและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คือ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ หรือ Vending Machine จนทำให้เกิดการแข่งขันใน 3 หุ้นในตลาดหุ้นไปด้วย
ตู้อัตโนมัติจำหน่ายสินค้าตั้งแต่ยเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูป ขยับไปจนเครื่องดื่มแบบชง ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลมีการนำตู้เติมเงิน ตู้ฝากเงิน ขยายไปถึงตู้ให้บริการสินเชื่อการเงิน เรียกได้ว่าตอบโจทย์ยุคนิว นอมอล ที่ลดการพบปะ และยังลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลง
ปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวยังมีผู้เล่นน้อยรายที่สามารถคลอบคลุมบริการได้ตั้งแต่สินค้าเครื่องดื่ม อาหาร ไปจนถึงระบบการเงิน จึงทำให้เกิดช่องว่างเห็นโอกาสของ 3 บริษัทในตลาดหุ้นที่เปิดศึก Vending Machine ไปโดยปริยาย
เปิดตัวกันที่รายใหญ่ที่พึ่งเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นาน บมจ. ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี หรือ SVT ที่มีทุนใหญ่ เครือสหพัฒนฯ เป็นเจ้าของ ส่งธุรกิจตู้กดอัตโนมัติทั้งเครื่องดื่ม-ขนมขบเคี้ยว-บะหมี่สำเร็จ เข้าตลาดหุ้นหลังดำเนินธุรกิจมานาน 20 ปี ด้วยจำนวนตู้ในมือ 14,600 ติ้นปี 2564 ทำให้มีมาร์เก็ตแชร์ 40 %
ปี 2565 SVT แผนธุรกิจเพิ่มเครื่องวางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอีกประมาณ 2,000 เครื่อง รวมเป็น 17,000 เครื่อง และปรับตู้แบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง โดยติดตั้งหน้าจอ LCD ระบบสัมผัสเพิ่มช่องทางสร้างรายได้สื่อโฆษณาดิจิทัล
โดยเตรียมเดินหน้าธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการเพื่อใช้รุกขยายไปต่างประเทศ รวมถึงรูปแบบการร่วมทุน ในกลุ่มเวียดนามและ สปป. ลาว และขยายให้ครอบคลุม CLMV ในระยะต่อไป รวมถึงการมีพันธมิตรเสริมการขาย กับบมจ.ซันสวีท หรือ SUN ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้า KC และกลุ่ม บีทีเอส หรือ BTS เพิ่มพื้นที่วางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในจุดใหม่ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า
สิ้นปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,963.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 195.96 ล้านบาท หรือ 11.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ 66.69 ล้านบาท เนื่องจากการกระจายของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่มีมากกว่า 14,000 เครื่อง ในพื้นที่กว่า 26 จังหวัด
ด้านกระแสแรงของ “ ตู้เต่าบิน” ถือว่าจุดพลุให้กับ บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) ด้วยราคาหุ้นทะยานขึ้นนิวไฮทะลุ 30 บาท จากกระแสนิยมในเครื่องดื่มจากตู้ชง “เต่าบิน” เกิดเป็นไวรัลในกลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ซึ่งแม้จะมี 818 ตู้สิ้นปี 2564 เตรียมขยาย ตู้เพิ่มเป็น 5,000 ตู้ และจะเพิ่มจำนวนตู้เป็น 20,000 ตู้ ภายในปี 67 ขณะที่มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 170 เมนู
รวมถึงเพิ่มฟังก์ชั่นเรื่องรสชาติ พัฒนาความสามารถในการทำเมนูอาหารใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต จากปัจจุบันมีเมนูทำโจ๊ก ซึ่งด้านยอดขายไม่ธรรมดามียอดขายเฉลี่ยกว่า 50 แก้ว/วัน/ตู้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 60 แก้ว/วัน/ตู้ ซึ่งบางตู้ทำยอดขายได้ถึง 240-250 แก้ว/วัน ราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่ม 34 บาท/แก้ว/ตู้ รายได้เฉลี่ยต่อวันของตู้เต่าบินอยู่ที่ 1.5-1.6 ล้านบาท/วัน
นอกจากนี้ยังมี “ตู้บุญเติม” บริษัทย่อย บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART ที่มีจำนวนให้บริการ 1.3 แสนตู้ เน้นการชำระเงินและเติมเงินอัตโนมัติ เพิ่มเติมบริการทางการเงิน การผ่อนสินค้า และที่จะเป็นบริการใหม่ e-wallet ที่จะเข้ามาเสริมการบริการที่ต่อยอดมาจากการให้บริการตู้บุญเติม
โดยมีการแตกไลน์ขยายผ่านออก " ตู้บุญเติม Mini ATM" ให้บริการได้ทั้งในประเทศและโอนเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคารและกลุ่ม Non-bank ล่าสุดได้พันธมิตรใหม่จากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันเข้ามาตั้งบริษัทร่วมทุนและขยายตู้กดอัตโนมัติไปพร้อมกัน
รายที่ 3 บมจ. สบาย เทคโนโลยี หรือ SABUY รายเล็กสุดแต่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การนำ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ “ตู้เวดดิ้ง แมชชีน” และ ตู้เติมเงินอัตโนมัติ “เติมสบายพลัส” ขยายต่อเนื่องสิ้นปี 2564 จำนวน 10,000 ตู้ และ 57,000 ตู้ ตามลำดับ
พร้อมกับการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้ง อาทิ บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี หรือAIT เข้ามาถือหุ้น ดำเนิน DATA Center รวมไปถึงธุรกิจ Cloud หรือกลุ่ม FORTH และ FSMART เป็น JV เพื่อขยายธุรกิจตู้ร่วมกัน ปัจจุบันบริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจซักแห้ง ธุกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อรถยนต์ ธุรกิจสมาร์ทล็อคเกอร์ให้บริการเช่าล็อกเกอร์ทั่วประเทศ และล่าสุดเตรียมพัฒนาบริการเพื่อเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล
3 รายถือว่าเดินหน้ารุกธุรกิจทั้งในไทยและการเตรียมไปยังต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ทำให้ธุรกิจดังกล่าวกลายเป็นต่อยอดรายได้และเข้าสู่ new s curve ไปพร้อมๆกัน