เกษตรกรโอดราคา ‘ปุ๋ย’ เชียงใหม่เพิ่ม 200%

เกษตรกรโอดราคา ‘ปุ๋ย’ เชียงใหม่เพิ่ม 200%

พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่สำรวจร้านจำหน่ายปุ๋ยในพื้นที่เชียงใหม่ พบมีการปรับราคาขึ้นประมาณร้อยละ200 คาดแนวโน้มจะขยับราคาขึ้นอีก ขณะที่ผู้ค้ารายย่อยระบุปุ๋ยราคาแพงมากในรอบ 20 ปี กระทบยอดขายเกษตรกรซื้อน้อยลง ใช้วิธีผสมปุ๋ยลดต้นทุนการผลิต

นางพนิดา วานิชรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ราคาปุ๋ยเคมีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการสำรวจร้านค้าประมาณ 34 แห่งในพื้นที่พบว่าได้มีการปรับราคาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเทียบราคาจากเมื่อ1-2 ปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีจากเดิมที่เคยจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 400-500 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ200 ส่งผลทำให้พฤติกรรมของเกษตรกรเปลี่ยนไป โดยไม่เลือกยี่ห้อปุ๋ยที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ แต่จะเลือกยี่ห้อที่มีราคาถูก

              สำหรับราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกสาเหตุหลักเกิดจากสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มมีการกักตุนสินค้าเพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างอาหาร ทำให้ราคามีการขยับตัวสูงขึ้น สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลน ร้านค้ายังมีปุ๋ยจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ราคาปุ๋ยมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามราคาที่ทางผู้จัดจำหน่ายในส่วนกลางกำหนดมา

               ทั้งนี้    คาดว่าราคาปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มที่จะขยับราคาเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนี้ เนื่องจากความสมเหตุสมผลของต้นทุนที่ได้ขออนุมัติในระดับนโยบายมา ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศจะเป็นผู้ยื่นรายละเอียดต้นทุน เพื่อขอปรับราคาปุ๋ยต่อกรมการค้าภายใน เพื่อพิจารณาตามเหตุและผลที่เกิดขึ้น หากได้รับการพิจารณาให้มีการปรับเพิ่ม ผู้ประกอบการรายใหญ่จึงจะกระจายสินค้าที่ปรับราคาใหม่ออกไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อจัดส่งต่อให้กับผู้ค้ารายย่อย ก่อนจะถึงมือเกษตรกร

ด้านนายสมเพ็ชร ขัติยา เจ้าของร้าน อ.เกษตรป่าข่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีการปรับราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ200 ซึ่งถือว่าราคาสูงมากในรอบ 20 ปี ตั้งแต่เปิดร้านขายเคมีเกษตรมา จากเดิมปุ๋ยยูเรียเคยจำหน่ายในราคากระสอบละประมาณ 500 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 บาท ทำให้กระทบต่อยอดขายจากเดิมที่เคยขายได้เฉลี่ยวันละ 10 กระสอบ ขณะนี้ขายได้เฉลี่ยวันละ 1 กระสอบ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาซื้อจะเป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง มีทั้งนำไปปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ผลไม้

               ทั้งนี้   เกษตรกรที่เข้ามาซื้อสินค้าได้มีการปรับตัวด้วยการลดปริมาณการซื้อปุ๋ย จากเดิมเคยซื้อ10 กระสอบ จะซื้อเพียง 1 กระสอบ และนำไปผสมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตอนนี้ที่ร้านจะไม่สั่งสินค้ามาเก็บไว้เป็นจำนวนมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่จะสั่งมาเก็บไว้พอที่ได้จำหน่ายเท่านั้น

นายภากร มาทาเม เกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า จากเดิมที่เคยซื้อปุ๋ยในราคา 1,100 บาท ขณะนี้ปรับเพิ่งขึ้นเป็น 1,470 บาท นอกจากนี้สารที่ต้องใช้ใส่ต้นลำไยเพื่อเร่งให้มีผลผลิตก็มีการปรับตัวสูงขึ้นด้วย จากเดิมที่จำหน่ายในราคา1,100 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,800 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตลำไยสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 ขณะที่ราคาลำไยไม่ได้มีการปรับเพิ่งขึ้นได้ตามต้นทุนการผลิต จากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนที่ปลูกลำไยด้วยกันต่างบอกว่าต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนอย่างแน่นอน

              ด้านนางผ่องพันธ์ สุปินะ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาปุ๋ยปุ๋ยยูเรียได้ปรับราคาสูงขึ้นจากราคากระสอบละ700 บาท ขึ้นเป็น 1,400 บาท ส่งผลให้เกษตรกรบางรายต้องงดปลูกข้าวโพดชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถสู้กับราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้นได้ และเกรงว่าจะต้องประสบกับปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้องมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยวซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเช่นกัน ขณะที่ราคารับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งหากราคาปุ๋ยยังสูงขึ้นเช่นนี้ เกรงว่าจะกระทบต่อการปลูกลำไยในอนาคตที่จะเริ่มผลิตในช่วงปลายปี

              ขณะที่นายกิตติศักดิ์ จันทร์ไพศรี เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวนา บางรายได้งดปลูกข้าวนาปรังไปก่อน เนื่องจากราคาปุ๋ยที่มีการปรับราคาสูงขึ้น จากเดิมที่เคยซื้อในราคา กระสอบละ510 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,440 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก หากปลูกในช่วงนี้เกรงว่าจะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต โดยปกติจะมีต้นทุนในการผลิตประมาณไร่ละ4,000 บาท เมื่อราคาปุ๋ยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ6,000 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมกับค่ารถเกี่ยวข้าวและค่าจ้างรถขนข้าวไปจำหน่าย ซึ่งราคาข้างเปลือกเหนียวปัจจุบันจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ6 บาทเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะปรับลงจึงไม่คุ้มกับการลงทุนในช่วงนี้