ส่องแผน 2 รัฐบาลดูแลพลังงาน รับมือสงครามรัสเซีย – ยูเครนยืดเยื้อเกิน 3 เดือน
นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้หน่วยงานเศรษฐกิจ 4 แห่ง เตรียมแผนรับมือ 4 เรื่อง ครอบคลุมการดูแลเกษตรกร การดูแลราคาพลังงานและผู้ประกอบการถือเป็นแผนการรับมือในระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเตรียมไว้รับมือสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อ
แม้ว่าสถานการณ์การสู้รบกันระหว่าง รัสเซียและยูเครน จะเบาบางลงแต่ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ หรือจะมีสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียใกล้ชิด โดยประเมินว่าสงครามจะยาวนานหรือไม่ และช่วง 3 เดือนนี้ จะเกิดปัญหาใหม่หรือไม่ หากสถานการณ์รุนแรงสู้รบกันมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ยาวนานมากขึ้นจะต้องทำอย่างไรจะต้องเตรียมแผนงานและการบริหารล่วงหน้าทั้งหมด
สำหรับการแก้ไขปัญหาขณะนี้ติดตาม “แก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง” โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่ามีปัญหาระหว่างผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และสมาคมหลายแห่งที่ต้องมาหารือกัน โดยทุกเรื่องต้องหารือ 2 ฝ่ายเสมอ
ทั้งผู้ได้รับผลกระทบ ผู้จัดหาปุ๋ยเข้าประเทศ เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาอาหารสัตว์ที่มีทั้งส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ประกอบการพืชไร่ ที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือโดยการนำเข้า แต่ขณะนี้ขาดแคลนจึงต้องหาทางแก้ไข และบางส่วนไม่ต้องการให้นำเข้า เพราะตอนนี้ราคาสูงดีอยู่แล้ว
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมมาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น 4 ข้อ ได้แก่
1.การดูแลกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งทำแนวทางช่วยเกษตรกร โดยการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงและปุ๋ยขาด รวมถึงปัญหาอาหารสัตว์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ แต่เกี่ยวข้องกระทรวงอื่น รวมถึงผู้นำเข้าและผู้ค้าปุ๋ยจากต่างประเทศ
2.การยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาดีเซลหมุนเร็วเกรดพรีเมี่ยม ที่มีผู้ใช้วันละ 1.4 ล้านลิตร ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 เป็นต้นไป เพราะเป็นน้ำมันที่ใช้กับรถยนต์ของผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3.การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้กองทุนในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจสถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุน
4.การดูแลผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ โดยให้กระทรวงคมนาคมลดอัตราหรืองดจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการต่ออายุทะเบียนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะปี 2565
โดยมาตรการช่วยเหลือระยะต่อไปมอบให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันพิจารณาติดตามและปรับปรุงมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก
โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อม และความสามารถทางการเงินของภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561