TNH กำไร 6M65 คิดเป็น 73% ของประมาณการปี 65 จึงปรับประมาณการกำไร +20%
งวด 2Q65 กำไรสุทธิ 118.6 ลบ. -16%QoQ +140%YoY: งวด 2Q65 (สิ้นสุด 31 ม.ค. 65) มีกำไรสุทธิที่ 118.6 ล้านบาท เป็นไปตามที่คาด โดยลดลง 16%QoQ แต่เติบโต 140%YoY เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเพิ่มขึ้น
ทางโรงพยาบาลฯได้ขยายให้บริการตรวจคัดกรองด้วยเทคนิค RT-PCR เปิดสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ/AQ) สถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และสถานที่กักตัวในชุมชน (Community Isolation) ร่วมกับบริษัทคู่สัญญา ตั้งแต่ 4Q64 ทำให้อัตราการครองเตียงและรายได้ต่อการรับไว้เป็นผู้ป่วยในเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ค่ารักษาพยาบาล 666 ล้านบาทลดลง 4%QoQ แต่เพิ่มขึ้น 36%YoY อัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 31% จาก 33% ใน 1Q65 และ 21% ใน 2Q64 เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง กำไร 6M65 เท่ากับ 260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น117%YoY คิดเป็น 73% ของประมาณการปี 65 เดิมที่ 357 ล้านบาท
- ปรับประมาณการกำไรปี 65 เพิ่มขึ้น 20% : แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องแต่เชื้อที่กลายพันธุ์ทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักลดลง แต่มีปริมาณคนไข้เข้าตรวจสุขภาพประจำปีและผ่าตัดเล็กมากขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลมีบริการตรวจห้องแลปทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 และบริการทดสอบ RT-PCR และ ATK SWAP นอกสถานที่ ทำให้คาดว่าผลประกอบการในช่วง 3Q65 (สิ้นสุด เม.ย. 65) น่าจะทรงตัว QoQ ซึ่งเติบโต YoY ขณะที่ในช่วง 2H65 ผู้บริหารมีนโยบายกลับสู่การประกอบการปกติในการเดินหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม (Thainakarin Wellness Center) ศูนย์รังสีรักษาโรคมะเร็งที่คาดจะเริ่มบริการราวมิ.ย. 65 เพื่อสะท้อนรายได้ที่เติบโตดีฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น 12% จากเดิมเป็น 2,553 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 25%YoY และขยับเพิ่มสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นเล็กน้อยจาก 28% เป็น 28.4% ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 65 (สิ้นสุด ก.ค. 65) เพิ่มขึ้น 20% จากเดิมเป็น 430 ล้านบาทซึ่งเติบโต 47%YoY สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- อนาคตยังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง : การเติบโตในอนาคตของธุรกิจโรงพยาบาลสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระยาวของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการ และงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) เมื่อเดือนธ.ค. 64 บอร์ดบริษัทได้อนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทถือหุ้น 99.97% โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจเพื่อสุขภาพและโรงแรมในการขยายฐานลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจหลัก ส่วนศูนย์รังสีรักษา (Linac Center) เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งคาดจะแล้วเสร็จและเริ่มบริการได้ราวเดือนมิ.ย. 65 (รวมในประมาณการแล้ว) ขณะที่โครงการโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 ที่ปรับการก่อสร้างเป็นการทยอยทําทีละเฟสย่อยจึงไม่มีภาระในการกู้เงินเนื่องจากสามารถใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานราวไตรมาสละ 200-250 ล้านบาทมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการก่อสร้างซึ่งได้สะท้อนในประมาณการแล้ว
- คงคําแนะนํา “ซื้อ” ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมสำหรับปี 65 เป็น 47.80 บาท (จากเดิม 39.80 บาท) : ฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ในการประเมินมูลค่าเหมาะสมซึ่งอิง Prospective P/E ที่ระดับเดิม 20 เท่ายังต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับ P/E กลุ่มในตลาด mai ที่ระดับ 56 เท่า และ P/E กลุ่มในตลาด SET ที่ 35 เท่า ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ที่ 15 เท่า จากประมาณการใหม่มีกำไรต่อหุ้นปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 2.39 บาท (จากเดิม 1.99 บาท) คำนวณราคาเหมาะสมใหม่ปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 47.80 บาท (เดิม 39.80 บาท) ซึ่งมีอัพไซต์จากราคาปิดล่าสุด 29% พร้อมคาดการณ์ dividend yield ราว 1.9% ต่อปี จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
ปัจจัยเสี่ยง
1) จำนวนผู้ป่วยลดลงจากก่อนสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
2) การก่อสร้างรพ.ไทยนครินทร์ 2 มีความล่าช้าจากแผนจากการทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด
3) การเริ่มบริการศูนย์สุขภาพองค์รวมล่าช้ากว่าแผน
4) คู่แข่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง