“ธาริษา” ย้ำ ธปท.เข้มบริหารความเสี่ยงรับมือเศรษฐกิจผันผวน
“ธาริษา” ย้ำพันธกิจ ธปท.พัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชน ประสานหน่วยงานเศรษฐกิจสร้างความสมดุลในระบบ พร้อมให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงระบบการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว ระหว่างการเสวนาหัวข้อเหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการธปท.ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย วันนี้ (4เม.ย.)โดยกล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของธปท.คือ การดูแลนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ แต่พันธกิจของเรา คือ การพัฒนาความอยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืน ฉะนั้น หัวข้อที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่ นโยบายการเงินกับเสถียรภาพนโยบายการเงินเท่านั้น
“ถ้ามองย้อนหลังกลับไป หลังเกิดวิกฤติโลก ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายต่างๆ ค่อนข้างจะน้อย แต่ว่า ไปอิงนโยบายการเงินเป็นส่วนใหญ่ มีการปั๊มเงินเข้าระบบ ก็เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ผลพวงความเสียหายได้โยงมาถึงทุกวันนี้ ฉะนั้น คำว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ จึงเป็นแบบนี้”
เธอกล่าวว่า เนื่องจาก เรามีเครื่องจักรบางตัวทำงานดี จะมีทางไหมที่จะทำให้เครื่องจักรทุกตัวเดินหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท.แต่ผู้เดียว แต่เรามีหน้าที่ในฐานะเป็นเสาหลักของประเทศ ซึ่งเราสามารถประสานงานกับอีก 3 หน่วยงานเศรษฐกิจได้ มีสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ พวกนี้ เราสามารถทำอะไรได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาที่มีเยอะมาก
“ปัญหาเดิมๆ ก็มีมากอยู่แล้ว เช่น หนี้ครัวเรือน หรือ ปัญหาระดับประเทศ คือ ความไม่สามารถในการแข่งขัน การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เรื่องความเหลื่อมล้ำรายได้ และยังมีโจทย์ใหม่ตามมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางธุรกิจ รวมทั้ง โจทย์ใหม่อย่าง ESG ซึ่งเป็นที่คาดหวังทุกภาคส่วน คือ ธนาคารพาณิชย์ควรมีส่วนแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนหรือไม่อย่างไร”
เธอกล่าวว่า ธปท.ควรพิจารณาด้วยว่า หลังจากโควิดแล้ว จะมีอะไรเปลี่ยนไปไหม และเปลี่ยนยั่งยืนแค่ไหน ซึ่งตนมองว่า การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในโลกจะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลพวงกับภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน ระบบการชำระเงินจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น โจทย์มีเยอะมาก จำเป็นที่ ธปท.ต้องเข้าไปมีบทบาท แม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่จำเป็นต้องมีส่วนสนับสนุน เช่น เรื่องความเป็นเลิศองค์กรและพนักงาน
นอกจากนี้ ยังขอย้ำเรื่องบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น ต้องคิดเผื่อว่า สถาบันการเงินอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งขณะที่เมื่อยามที่แข็งแรงดีอยู่ ถ้าจะแก้ไขอย่างยั่งยืน จะต้องทำในระหว่างที่ยังเข้มแข็ง ไม่ใช่ว่า กำไรออกมาเยอะ เอาไปแจกปันผลหมด ถึงเวลาจะต้องกันสำรองมากขึ้น แต่หมดหน้าตักซะแล้ว พวกนี้ เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งในโลกที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็ว การระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับเรื่องการบริหารค่าเงินบาทนั้น เธอกล่าวว่า เรื่องค่าเงินเป็นเรื่อง TOP HIT ที่ ธปท.ต้องไปเกี่ยวข้อง ก็มีประเด็นว่า เรา Take sides หรือเปล่า เพราะมาตรการที่ออกมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ตรงนี้ คิดว่า เราต้องพยายามทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง และสมดุล ซึ่งจะทำให้ ธปท.ลดความจำเป็นในการเข้าไปดูแล
ขณะเดียวกัน การพูดคุยกับภาคเอกชนให้เกิดความเข้าใจในนโยบายก็เป็นสิ่งจำเป็น และฝากถึงผู้ว่า ธปท.คนปัจจุบันด้วยว่า ต้องยึดความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงผลพวงที่จะเข้ามากระทบ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์