เวิลด์แบงก์ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ2.9%
เวิลด์แบงก์ประกาศปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 2.9%จากเดิม 3.9% โดยความเสี่ยงจากสงครามยูเครนกระทบทั้งการบริโภคและการส่งออก ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายยังคงที่ในระดับ 0.5% ขณะที่ ระดับหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในประเทศระยะยาว
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย(เวิลด์แบงก์)เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% ถือว่า ปรับลดลงค่อนข้างมากจากประมาณการในรอบเดือนม.ค.65 ที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่ไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจาก มีการนำเข้าพลังงานถึง 4.5%ของจีดีพี
“ผลกระทบดังกล่าว จะส่งผ่านมาทางด้านราคาพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคเอกชนด้วย โดยราคาพลังงานโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และทำให้แนวโน้มการส่งออกไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง”
ทั้งนี้ ในด้านของปัจจัยบวกที่เราประเมิน เนื่องจาก ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัว โดยปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเราประเมินปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6.2 ล้านคน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับก่อนเกิดโควิด โดยนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่เข้ามาไทยในปีนี้ เนื่องจาก นโยบายควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ปัจจัยบวกอีกด้าน คือ การผ่อนล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน หนุนการบริโภคในประเทศ
ด้านปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญกับไทยเริ่มอ่อนแอลง ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ภาพของจีดีพีไทยลงไปอยู่ที่ 2.6% ซึ่งจะต่ำกว่าประมาณ
ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สงครามยูเครนจะส่งผลกระทบให้เกิดช็อกในตลาดการเงินและมาตรการทางการคลังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมินไว้กรณีฐาน ที่เราประเมินว่า การใช้นโยบายการคลังจะหนุนการบริโภคในประเทศขึ้นมาได้ ถ้าแรงส่งนี้ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด
ด้านนโยบายการเงินนั้น เราประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ 0.5%แม้ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ยังเติบโตอ่อนแอ โดยตัวเลขที่ออกมาในไตรมาสที่ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 40%
“ฉะนั้น ยังประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ ยังจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
ขณะที่ แรงกดดันของเงินเฟ้อนั้น ประเมินว่า มีแรงกดดันจาก supply site หรือทางด้านอุปทาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญจากราคาพลังงาน ประเมินว่า ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ ประเด็นที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมองว่า แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานมีอยู่จำกัด เนื่องจาก เศรษฐกิจยังคงอยู่ในการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่ำ
สำหรับด้านภาคการคลังนั้น เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ความจำเป็นต่อการใช้นโยบายการคลังเริ่มลดลง เนื่องจาก เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น เราเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้นจากการผ่อนมาตรการล็อกดาวน์และทางด้านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้แนวโน้มการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวดีขึ้น
ฉะนั้น ภาพของดุลการคลังในปีนี้จะมีแนวโน้มขาดดุลลดลง จากที่เห็นระดับการขาดดุลสูงในปี 2564 จะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะจะไม่ปรับสูงขึ้นมาก โดยประเมินว่า จะอยู่ที่ 62%ต่อจีดีพีในปีนี้ และ ปีต่อๆไปเริ่มทรงตัวมากขึ้น
ในเรื่องของเสถียรภาพเศรษฐกิจ ประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ ถือว่า ความเปราะบางของหนี้สาธารณะต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กรณีเฟด ไม่ได้ส่งผลต่อระดับหนี้สาธารณะของไทยเท่าไหร่
สำหรับนโยบายการคลังที่ดำเนินการอยู่นั้น ประเมินว่า เป็นนโยบายที่ตรงจุด และเหมาะสมที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น นโยบายคนละครึ่งช่วยสนับสนุนร้านค้าต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและหนุนให้การใช้จ่ายดีขึ้น ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบมากมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานเกือบ 50%ของรายได้ ฉะนั้น นโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมาถือว่าเป็นนโยบายลดภาระการใช้จ่ายได้
ด้านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้นั้น มองว่า ควรดำเนินนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม โดยถือว่า จำเป็น เพราะระดับหนี้ยังสูง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิดทำให้ภาระการกู้ยืมเพิ่ม แต่เราประเมินว่า ด้านมาตรการต่างๆน่าจะช่วยได้ แต่ในภาพการปรับหนี้ครัวเรือนลงมาถือว่า ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว และจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในประเทศระยะยาว