ThaiBMA คาด รัฐบาลจ่อขายพันธบัตรเพิ่มปีนี้ เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจ
ThaiBMA คาดปีนี้ รัฐบาลออกพันธบัตรมากขึ้น ใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากมีวงเงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน และเอกเชน เล็งขายหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้าน ดันมูลค่าคงค้างตลาดบอนด์ไทยโต 3-4% จากปีก่อนที่ 14.98 ล้านล้าน ยัน ไม่พบสัญญาณเศรษฐกิจไทยถดถอยใน 3 ปีข้างหน้า
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยปีนี้ ยังขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย เพิ่มขึ้น 3-4 % จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 14.98 ล้านล้านบาท ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากภาครัฐจะมีการออกพันธบัตรของรัฐบาลมากขึ้น เพราะภาครัฐยังมีวงเงินกู้ในปีนี้อีก 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้
รวมถึงคาดว่าในปีนี้บริษัทเอกชนจะออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเป็นการออกพันธบัตรใหม่มากกว่าต่ออายุ เนื่องจากต้นทุนการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนช่วงครึ่งปีแรกยังไม่ขยับสูงขึ้นมากนัก จึงยังเป็นจังหวะที่บริษัทเอกชนเร่งออกหุ้นกู้มากกว่าครึ่งปีหลังที่ต้นทุนมีโอกาสขยับสูงกว่าจากแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ย และปกติช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี บริษัทเอกชนจะมีการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ออกมากที่สุดก่อนจะลดลงในช่วงปลายปี
นางสาวอริยา กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย ไตรมาส 1 ปี 2565 อยูที่ 15.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล อยู่ที่ 7.16 ล้านล้านบาท และการออกหุ้นกู้เอกชน 2.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากสิ้นปีก่อน 1.84 แสนล้านบาท โดย 9 เดือนที่เหลือปีนี้ มีหุ้นกู้ครบกำหนด 5.66 แสนล้านบาท อยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไฟแนนซ์ และพลังงาน สัดส่วนถึง 50%
สำหรับปัจจุบันสมาคมตราสารหนี้ไทย ยังไม่พบความเสี่ยงการเกิด inverted yield curve ในตลาดตราสารหนี้ไทย ที่จะเป็นสัญญาณของการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพราะว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 และ 2 ปี (yield spread 10 Yr-2 Yr) ยังห่างกันค่อนข้างมาก ณ มี.ค. 2565 อยู่ที่ 1.43% และที่ผ่านมาไม่เคยลงไปติดลบ เคยลงไปต่ำสุดที่ 0.01% ณ ส.ค. 2554 จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดราคาน้ำมันแพง และล่าสุดเมื่อ ณ ส.ค. 2562 ของไทยที่ลงไปต่ำที่ 0.04% จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กดดันการส่งออกและเศรษฐกิจไทย
"ตอนนี้ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะบริบทเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต สาเหตุจากการทำคิวอีของเฟดที่สูงมากในช่วงเกิดโควิด และปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐทั้ง การจ้างงาน จีดีพี อัตราการว่างงาน ยังสะท้อน เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ร้อนแรงและแข็งแกร่ง ซึ่งยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเกิดจริงหรือไม่ เพียง inverted yield curve ในตลาดตราสารหนี้สหรัฐติดลบ ต้องจับตามอง"
ส่วนทางด้านกระแสเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยในปีนี้ นางสาวอริยา มองว่า ฟันด์โฟล์เข้าตลาดตราสารหนี้ไทยปีนี้จะน้อยกว่าปีก่อน จากปัจจุบันเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิตราสารหนี้ไทยเพียง 30,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครนอยู่ที่ระดับ 100,000 ล้านบาท
สำหรับในระยะถัดไป ยังมีความไม่แน่นนอนสงครามรัสเซียกับยูเครน และทิศทางเฟดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ทิศทางเงินบาทปีนี้อ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า จากดอลลาร์แข็งค่า เงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนตามดัชนี
ทั้งนี้ ยังขึ้นกับจังหวะของตลาด หากสถานการณ์โลกเลวร้าย ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีโอกาสเห็นกระแสเงินทุนไหลกลับมาได้เช่นกัน โดยไตรมาส 1ปี 2565 ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 1.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่น 6.9 % ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้หนี้ไทย และกว่า 90% หรือ 9.45 แสนล้านบาท เป็นตราสารหนี้ระยะยาว อายุเฉลี่ยพันธบัตรที่ต่งชาติถือครองอยู่ที่8.56 ปี
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์บอนด์ยิลด์ 10 ปี (อ้างอิง Machine Learnting) ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ 2.5% -2.7% จากสิ้นปีก่อน 1.9%และไตรมาส 1 ที่ 2.35% จากเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวร้อนแรง และสะท้อนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในระยะข้างหน้า จากการจัดการโควิดได้และเริ่มเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมากขึึ้น ภายใต้สมตติฐาน ความขัดแย้งรัสเซียยูเครน คลี่คลายและไม่ลุกคามจนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก