ส.อ.ท. เร่งรัฐประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยกเลิก Test&Go ฟื้นเศรษฐกิจ

ส.อ.ท. เร่งรัฐประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยกเลิก Test&Go ฟื้นเศรษฐกิจ

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 89.2 สูงสุดในรอบ 25 เดือน หลังรัฐประกาศลดมาตรการ Test&Go ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาราคาน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจโลก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 89.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 86.7 โดยค่าดัชนี ขยับขึ้นไปสูงสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 โดยองค์ประกอบดัชนี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ 

ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุม โควิด-19 ในประเทศ และหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว และความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 

"การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการปรับรูปแบบมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รวมทั้งในเดือนมี.ค. ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเร่งการผลิตสินค้า เพื่อส่งมอบก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สอดคล้องกับดัชนี คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนอยู่ที่ระดับ 97.1 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลงจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ส่งผลอุปสงค์ในประเทศมีทิศทางดีขึ้น อีกทั้งการส่งออกของไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน กดดันให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบ อาทิ อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินแร่สำหรับผลิตเหล็กอะลูมิเนียม เป็นต้น 

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ขอเสนอให้ภาครัฐยกเลิกมาตรการ Test & GO เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการรองรับการปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบราคาแพง เช่น การปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต รวมทั้งปลดล็อกเงื่อนไข และโควตาการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะวัตถุดิบที่ขาดแคลน

รวมทั้งให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า และเร่งเจรจากับจีน-เวียดนาม ขอขยายเวลาเปิดด่านเป็น 24 ชั่วโมง เพิ่มช่องทางในการตรวจสินค้าผลไม้ และการเตรียมแผนสำรองในการส่งออกผลไม้ทางเรือ/เครื่องบิน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนผ่านด่านทางบก

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์