“EECi”หมุดหมายใหญ่ หนุน "ไทย" เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.2565 โดยมีความคาดหวังให้เป็นกุญแจสำคัญต่อยอดการพัฒนา “เทคโนโลยี” ในประเทศไทยสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้สู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 7 ปี ซึ่งจะมีการพัฒนา 6 เทคโนโลยีหลักในพื้นที่ EECi โดยจะมีการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานนำร่อง เพื่อรองรับการลงทุนเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่ แบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีหมุดหมายสำคัญของทุกโครงการภายในปี 2573
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาภายในระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ประมาณปีละ 5% ต่อเนื่อง และรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้การพัฒนาโครงการและการลงทุนในพื้นที่อีอีซีประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้
อย่างไรก็ตามนอกจากในเรื่องของเป้าหมายการลงทุนที่เป็นมูลค่า ประเทศไทยยังจะต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยในรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุว่าประเทศที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มมากขึ้นการเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจึงตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทย ทั้งจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีการลงทุนจากต่างประเทศแล้วเราเอาไปพัฒนาต่อยอด รวมถึงการคิดค้นวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งแนวคิดที่วางไว้ได้นำมาสู่โครงการ EECi ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ในพื้นที่กว่า 3,454 ไร่
สำหรับพื้นที่ของ EECi ได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการวิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จากระดับการคิดค้นวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีสามารถถอดแบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนของอุตสาหกรรมสำคัญที่ประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาในอนาคตโดย
ในระยะแรกจะเน้นที่เทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ โดยโรงกลั่นชีวภาพแห่งนี้จะเปิดให้บริการปี 2566 โดยเป็นโรงกลั่นชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากผลผลิตของเหลือทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูง และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี
โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายประเทศ และเตรียมจะมีการลงนามความร่วมมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จากประเทศเบลเยียมเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการเดินหน้าโครงการ
ทั้งนี้ EECi ได้มีการวางแผนที่จะทยอยเปิดตัวโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2565-2567 ได้แก่
ปี 2565 จะมีการเปิดตัว EECi Headquarters รวมถึงเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ที่จะเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติ และเปิดตัวโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ
ปี 2566 เปิดตัวโรงเรือนฟีโนมิกส์ และเปิดตัวโรงงานแบตเตอรี่ทางเลือก ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย
ปี 2567 เปิดตัวโครงการโรงงานผลิตพืชต้นแบบ และเปิดตัวสนามทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ
ปี 2568 เปิดตัวโครงการสนามทดสอบดิจิทัลสำหรับยานยนต์อัตโนมัติ เปิดตัวระบบทดสอบเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสมัยใหม่
ปี 2573 เปิดตัวเครื่องกำเนิดแสงซินโคตรอนขนาดจิกะอิเล็กตอนโวลต์ (GeV)
ทั้งนี้ โครงการ EECi มีการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 และจะแล้วเสร็จในระยะแรกในเดือน มิ.ย.2565 ในส่วนของอาคารหลัก (EECi Headquarter) ที่จะมีส่วนสำคัญในการรองรับโครงการสำคัญ เช่น โครงการต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ และศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืน
สำหรับอาคารดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการเดินทางมาเยือนของคณะการประชุมที่จะเดินทางมาร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการเป็นงบบูรณาการในปี 2562-2567 วงเงิน 5,755 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานถนน เป็นการลงทุนของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หลังจากนี้จะมีการลงทุนในส่วนอื่นๆ จากภาคเอกชนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานต้นแบบ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนนานาชาติ คอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ รวมแล้วจะเกิดการลงทุนในพื้นที่ EECi ประมาณ 2.87 แสนล้านบาท
“EECi จะเป็น driven forth ของเศรษฐกิจไทย โดยวางเป้าหมายว่าจะเกิดการลงทุนที่ต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาววางแผนว่ารัฐลงเงินเท่าไหร่ เอกชนจะลงมากกว่าประมาณ 5 เท่า"
นอกจากนี้ หาก EECi เกิดขึ้นได้สำเร็จเป้าหมายการเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว" ที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองจะเกิดขึ้นได้สำเร็จ โดยภาพที่ต้องการให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจปีละ 5% ต่อเนื่องและประชาชนมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง