เปิดเส้นทางการเงิน ทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ
ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ เกิดง่ายแต่จบยาก การตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด เพื่อนำเงินมาคืนให้กับสมาชิก จึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัดอย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หากพบรายใดมีส่วนกระทำผิดให้ใช้อำนาจนายทะเบียนสั่งหยุดหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่งทันที หากจำเป็นให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่กับการสืบค้นของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ทั้งนี้เพื่อ ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมดของผู้กระทำผิดของผู้ต้องสงสัยคือ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และนางสิริพร รัตนปราการ หัวหน้าฝ่ายการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามที่สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ ได้แจ้งดำเนินคดีไปแล้วในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง
หลังจากตรวจพบว่าทั้งผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 รายแสดงบัญชีของสมาชิกอันเป็นเท็จยักย้ายถ่ายโอน เบื้องต้นมีสมาชิกได้รับความเสียหายรวม 85 คนวงเงิน 491 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
“ได้รับแจ้งว่า 1 ใน ผู้กระทำการทุจริตเดินทางข้ามไป สปป.ลาวและ เวียดนามแล้ว เราจะติดตาม เพื่อให้ได้รับการลงโทษ เส้นทางการเงินของทั้งคู่อยู่ในมือเราแล้ว เรารู้ และมีหลักฐาน ซึ่งเรื่องนี้สืบได้ไม่ยาก ภายในเดือนเม.ย.นี้น่าจะมีความคืบหน้า เนื่องจากจะขอใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีเร่งรัด ปปง. และดีเอสไอ ให้ดำเนินการเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ “
รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า เบื้องต้น กรณีผู้ต้องสงสัย นางพวงทิพย์ ปัจจุบันมีการลงทุน โดยสร้างรีสอร์ท เขาค้อกรีนการ์เด้นท์ ที่อยู่ เลขที่ 201 ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน ห้องพัก 10 ห้อง และบ้านใหญ่
ในขณะที่บุตรชายของ นางสิริพรเดิมมีอาชีพเป็นนักบิน แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ จึงมีการลงทุนสร้างรีสอร์ท ณ บ้านทุ่ง อัมพวา ซึ่งแล้วเสร็จในและเปิดให้บริการช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พิกัดที่ 45 หมู่ 6 ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ. สมุทรสงคราม
สำหรับกรณีจะให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ไปอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมระบบการเงินนั้น ไม่สามารถก้าวก่ายได้ เนื่องจากสหกรณ์เป็นนิติบุคคล แต่เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดทุจริตขึ้นอีก การตรวจสอบของสมาชิกโดยผ่านแอปพลิเคชันของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ ครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างให้ทุกสหกรณ์ต้องหันมาใช้ระบบนี้ และจะพัฒนาระบบต่อไปเพื่อให้ปลอดภัยที่สุด โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ติดตามและตั้งข้อสงสัยทันทีหากสหกรณ์ออมทรัพย์รายใดไม่นำระบบแอปพลิเคชันมาใช้
ประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ความเสียหายคาดว่าจะไม่ถึง1,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินฝากของสหกรณ์มีประมาณกว่า1,000 ล้านบาท เท่านั้นจากเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 1,800 ล้าบาท ซึ่งผู้กระทำความผิด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีปลอมลายมือชื่อเพื่อถอนเงินไปใช้ โดยเลือกทุจริตในบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ความเสียหายคิดเป็น 50 % ของบัญชีเงินฝาก
อัญชนา ตราโช รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ กล่าว ปัจจุบันสหกรณ์มีทุนเรือนหุ้น1,574 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทุนสำรอง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จำนวน 151 ล้านบาท และเป็นเงินที่นำไปลงทุน 650 ล้านบาท ดังนั้นจะเพียงพอต่อการชำระความเสียหายของสมาชิกได้
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์