ฟรุ้ทบอร์ดหวั่นโควิดถล่มจีนฉุด ‘ส่งออก’ ผลไม้ไทย

ฟรุ้ทบอร์ดหวั่นโควิดถล่มจีนฉุด ‘ส่งออก’ ผลไม้ไทย

คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก 4 ชนิด ในปี 2565 คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง รวมทั้งสิ้น 1,186,364 ตัน และผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ 43,511 ตัน

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อลงกรณ์ พลบุตร ระบุ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก 4 ชนิด ในปี 2565 คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง รวมทั้งสิ้น 1,186,364 ตัน และผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ 43,511 ตัน โดยให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนบริหารจัดการผลไม้

ส่วนกรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา ให้จังหวัดประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา ใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป 
        
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนระลอกใหม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกผลไม้ของไทยที่ประมาทไม่ได้ จึงขอให้ผู้ส่งออกเพิ่มการขนส่งทางเรือให้มากที่สุดเป็น 55% และการขนส่งทางรถไฟสายจีน-ลาว ในระบบผสม “ราง-รถ” เป็นทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงของการขนส่งทางรถที่มีความไม่แน่นอนของด่านทางรถที่อาจปิดได้ทุกเมื่อหากเกิดการระบาดของโควิดในพื้นที่ใกล้เคียง แม้ตอนนี้ด่านทุกด่านยกเว้นด่านตงชิงยังเปิดเป็นปกติ 

รวมทั้งต้องเร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้นจาก 30% เป็น 40% เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ทั้งในส่วนของภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือและทุกภาคทั่วประเทศ

สถานการณ์การค้าผลไม้กับจีนในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้ไปจีน 1.6 แสนล้านบาท แต่จีนส่งผลไม้มาไทย 4 หมื่นล้านบาท นับว่าไทยได้เปรียบการค้าจีนด้านผลไม้ 3-4 เท่าตัว โดยผลไม้ไทยครองตลาดจีนมีมาร์เก็ตแชร์กว่า  40% อันดับ 2 คือ ชีลี 14% เวียดนาม 6% อยู่อันดับ 3 ซึ่งสะท้อนขีดความสามารถของไทย 

ในปีที่ผ่านมา ไทยยังส่งออกผลไม้ไปจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉพาะทุเรียนส่งออกทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก แม้จะเผชิญปัญหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในจีนซึ่งกระทบการขนส่งและการส่งออกเป็นระยะๆ ปีนี้จึงประมาทไม่ได้แม้จะได้เตรียมมาตรการและงบประมาณสนับสนุนล่วงหน้าก็ตามแต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีนยากจะคาดคะเนว่าจะยุติลงเมื่อใด