AIS ออกโรงขวาง ‘ควบรวม’ ทรู-ดีแทค ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค
การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยหลายฝ่ายได้คัดค้านการควบรวมกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น TDRI พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มแรงงาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT
ล่าสุด บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค หรือ AWN ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากการควบรวมกิจการดังกล่าว
AIS ระบุว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดและต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ด้วย การปล่อยให้เกิดการควบทรู-ดีแทค จะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียต่อการแข่งขัน
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ที่แม้ยังไม่เกิดการควบรวม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศก็กระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หาก กสทช.อนุญาตให้ควบธุรกิจจะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
หนังสือของ AIS ยังระบุว่า การควบรวมจะเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก ที่สำคัญการอนุญาตให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่
กสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญฯพ. ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรรัฐที่อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น
มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว
ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27( 11 ) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
นอกจากนี้ กสทช.ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม
ด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ทำให้ กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม
ซึ่งในอดีต กสทช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.
ในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา “อนุญาต”หรือ “ไม่อนุญาต” โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ กสทช. ยังหน้าที่ในการนำกฎหมายว่า ด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้พิจารณา เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม