ยื่นภาษี “ขอคืนภาษี” แล้ว รอนานไหม ถ้ายังไม่ได้เงินภาษีคืน ต้องทำอย่างไร
จบฤดูกาล “ยื่นภาษี 2564“ อย่างเป็นทางการแล้ว ใครที่ยื่นภาษีเรียบร้อย และ “ขอคืนภาษี” ไว้ แต่ยังไม่ได้เงินภาษีที่หักเกินไว้คืนสักที มาเช็กกันว่า ตามขั้นตอนปกติ ควรจะได้เงินคืนตอนไหน แล้วถ้ายังไม่ได้ คุณทำอะไรผิดไปตรงไหนหรือเปล่า แล้วควรต้องทำอย่างไรต่อ
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ที่ยื่นกันมาตั้งแต่ต้นปี ในกรณีที่คำนวณแล้วไม่ต้องเสียภาษี และได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ สามารถขอคืนเงินภาษีได้ สำหรับการยื่นแบบฯ ผ่านระบบออนไลน์ ทางระบบจะคำนวณและแจ้งยอดเงินคืนภาษีในขั้นตอนสุดท้ายหากมีภาษีที่ต้องได้คืน
ทั้งนี้ หากใครยื่นแบบฯ ภาษี แล้วผลปรากฏว่าต้องได้เงินภาษีคืน แต่ผ่านไปวันแล้ววันเล่าเฝ้าแต่รอ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เงินภาษีคืน ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าตนเองทำผิดในขั้นตอนไหนหรือไม่ หรือมีการตกหล่น สูญหายหรืออย่างไร
วันนี้เรามาสำรวจว่าการขอคืนเงินภาษีของคุณผิดพลาด ณ จุดไหน และวิธีการตรวจสอบ รวมถึงวิธีการแก้ไขการขอคืนภาษีต้องทำอย่างไรบ้าง
- ยื่นแบบฯ ภาษีแล้ว กี่วันได้รับเงินภาษีคืน
ปกติขั้นตอนการทำงานในส่วนของการขอคืนเงินภาษี หลังจากที่ยื่นแบบฯ ภาษีแล้ว ทั้งแบบยื่นกระดาษที่สำนักงาน และยื่นแบบออนไลน์ ทางกรมสรรพากรจะนำข้อมูลมาพิจารณาคืนภาษี หากตรวจสอบข้อมูลและเอกสารแล้วมีภาษีที่ต้องคืนจริง จากนั้นจะทำการส่งคืนเงินภาษี
โดยกรมสรรพากรจะใช้เวลาดำเนินการตรวจสอบพิจารณาและคืนภาษีภายใน 3 เดือน หากการยื่นแบบฯ ภาษีนั้นมีเอกสารชัดเจนว่าได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำ หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี หรือแบบ ค.10
ทั้งนี้ ช่วงเวลา 3 เดือนหลังจากยื่นแบบฯ ภาษีแล้ว หากผู้ขอคืนภาษีใดได้รับพิจารณาข้อมูลและเอกสารแล้วว่าถูกต้องชัดเจน ระยะเวลาโดยประมาณที่กรมสรรพากรจะดำเนินการคืนภาษี สามารถแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
1. ผูกระบบพร้อมเพย์ โดยผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับบัญชีธนาคาร หากผู้ขอคืนเงินภาษีสมัครพร้อมเพย์ ทางกรมสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีให้ภายใน 3-4 วัน
แต่หากไม่มีข้อมูลลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชน ระบบจะส่งข้อมูลกลับที่กรมสรรพากร และใช้เวลาอีก 7 วัน เพื่อรอให้ผู้ขอคืนภาษีได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชน จนแน่ใจว่าไม่ได้ลงทะเบียนจริง กรมสรรพากรจะทำการออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) ส่งทางไปรษณีย์ เพื่อแจ้งให้ผู้ยื่นขอคืนภาษีใช้เป็นหลักฐานไปติดต่อรับเงินคืนที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2. ไม่ได้ผูกระบบพร้อมเพย์ ทางสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) ส่งทางไปรษณีย์ สำหรับเป็นหลักฐานเพื่อนำไปติดต่อรับเงินคืนได้ที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้เวลาประมาณ 15 วัน
- วิธีตรวจสอบสถานะคืนเงินภาษีผ่านระบบออนไลน์
สำหรับผู้ขอคืนภาษีที่กังวลว่าจะได้รับเงินภาษีคืนเมื่อไหร่ ทำไมจึงนานเหลือเกิน สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะผ่านระบบบริการสอบถามข้อมูลคืนภาษี ได้จากหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ว่าข้อมูลการยื่นแบบฯ ภาษีของตนเองได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือยัง
ทั้งนี้ หากยื่นแบบฯ กระดาษที่สำนักงาน สามารถตรวจสอบได้หลังจากยื่นแบบฯ ไปแล้ว 1 วัน โดยให้ระบุปีภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (บุคคลธรรมดาให้ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน) ชื่อ นามสกุลผู้เสียภาษี ให้ถูกต้อง จากนั้นระบบจะทำการตรวจสอบสถานะการคืนเงินภาษีให้ทันที ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนได้ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร แล้วคลิกที่ “สอบถามการคืนภาษี”
- คลิกเลือกปีภาษีที่ต้องการสอบถาม
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (บุคคลธรรมดาให้ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน)
- กรอกชื่อผู้เสียภาษี (ไม่ต้องระบุคำนำหน้าชื่อ)
- กรอกชื่อสกุล แล้วกดสอบถาม
จากนั้นระบบจะแจ้งข้อมูลว่าได้มีการโอนเงินภาษีแล้วหรือยัง โอนแล้วเมื่อวันที่เท่าไหร่ หรือกำลังรอพิจารณาอยู่
- สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ยังไม่ได้รับคืนเงินภาษี
ตามหลักการแล้วหากผู้มีรายได้ได้ยื่นแบบฯ ภาษีผ่านระบบออนไลน์ ควรเข้าไปตรวจสอบดูว่า ทางกรมสรรพากรได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือเอกสารเพิ่มหรือไม่ เพื่อใช้ในการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
ในกรณีที่ต้องมีการส่งเอกสารเพิ่มเติมแต่กลับปล่อยผ่าน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของการขอคืนภาษีให้ได้
หรือกรณีที่ไม่ได้ผูกระบบพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
สาเหตุอาจเกิดจากมีการเปลี่ยนที่อยู่ หรือให้ที่อยู่ผิดจึงทำให้หนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) ที่ส่งไปให้ทางไปรษณีย์ไม่ถึงผู้ขอคืนเงินภาษี
ทั้งนี้ สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
1.กรณีที่ยื่นแบบฯ ภาษีผ่านระบบออนไลน์ อาจกดส่งแบบฯ มากกว่า 1 ครั้ง หรือยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน กรอกข้อมูลผิด ตกหล่น ซึ่งจะต้องทำการยื่นเอกสารใหม่ทันทีภายในเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด หากส่งช้าจะทำให้ได้เงินคืนช้าอย่างแน่นอน
โดยสามารถยื่นเอกสารเพิ่มเติมผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยแนบเอกสารเป็นไฟล์ PDF เท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่เปิดดูได้ง่าย หรืออาจส่งเอกสารสำเนาไปทางแฟกซ์ หรือไปรษณีย์ก็ได้เช่นกัน พร้อมกับมีใบนำส่งเอกสาร เพื่อแสดงรายละเอียดการแนบเอกสารที่ขาด ดังนี้
- ชื่อ นามสกุล
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (บุคคลธรรมดาให้ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน)
- เอกสารที่นำส่ง
2.กรณีไม่ได้ผูกระบบพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อตรวจสอบพบว่าสถานะเป็น “คืนเงินภาษี” มีการส่งหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) มาให้แล้วแต่กลับไม่ได้รับ สาเหตุอาจเกิดจากมีการเปลี่ยนที่อยู่ โดยไม่ได้แจ้งกับกรมสรรพากร
หรือไม่ได้เปลี่ยนที่อยู่แต่ไม่ได้รับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) จริงๆ สามารถติดต่อกรมสรรพากรพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพื่อขอรับเช็คฉบับดังกล่าว หรือยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่ได้ โดยใช้เอกสารประกอบคำร้องดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
- หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนา
ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงผ่านศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Call Center) : 1161 และที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามการยื่นแบบฯ
สรุป
เพื่อให้การขอคืนเงินภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงมั่นใจได้ว่าผู้ขอคืนเงินภาษีจะได้รับเงินคืนจริง ไม่ต้องเก้อ สิ่งที่จำเป็นคือต้องยื่นแบบฯ ภาษีที่ต้องถูกต้อง เอกสารครบถ้วนตั้งแต่ต้น เพื่อให้กรมสรรพากรพิจารณาได้เร็วขึ้น
และที่สำคัญควรผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับบัญชีธนาคารของผู้ขอคืนภาษี จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการได้รับเงินภาษีคืน และป้องกันการสูญหายระหว่างทางได้อีกด้วย
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่