มรสุมข่าวลือ -ทุบหุ้น กดดันหุ้นEA ช่วง 5 ปี
ข่าวลือเกิดขึ้นในตลาดหุ้นอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นข่าวประเภทดังกล่าว ทั้งข่าวเชิงบวกและเชิงลบและมีผลต่อราคาหุ้นยิ่งในตลาดหุ้นมีนักลงทุนรายย่อยมากถึง 60 % อย่างตลาดหุ้นไทย เช่นที่เกิดความเสียหายกับหุ้นใหญ่ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
ต้นเดือนเม.ย. 2565 ข่าวเกิดขึ้นมาผลกระทบต่อราคาหุ้นครั้งใหญ่(อีกครั้ง) มีผลต่อราคาหุ้นจากขึ้นทะลุ 100 บาทได้อีกครั้งช่วงวันที่ 4 เม.ย. 2565 หลังจากที่สามารถทำราคานิวไฮ ที่ 105.50 บาท (17 ธ.ค.64) ราคาถูกเทขายช่วงบ่ายวันที่ 5 เม.ย. 2565 อย่างมีนัยยะสำคัญหรือที่เรียกว่า “แพนิคเซล” ทำให้ราคามาปิดที่ 94.25 บาท ลดลง 5.75 %
หลังจากนั้นราคาหุ้นปรับตัวลดลงและยังเป็นหุ้นที่ติดอันดับมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 1 ใน 5 อันดับแรกของวัน จนราคาหุ้นอยู่ที่ 86.75 บาท วันที่ 11 เม.ย. 2565 เป็นการลดลง 0.75 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 0.86 %
ขณะที่มูลค่ามาร์เก็ตแคปจากที่ สิ้นปี 2564 ราคาเหนือ 100 บาท ที่ 358,080 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 326,370 ล้านบาท หรือลดลง เกือบ 10 % กระทบต่อผู้ถือหุ้น EA ที่ปัจจุบัน มีสัดส่วนรายย่อยถือหุ้น 40.37 % หรือ 31, 592 ราย (ณ ปิดสมุดทะเบียน มี.ค. 2564 )
โดยมีข่าวลือที่ทำให้เกิดการไล่ขายหุ้นลงมาตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดลำปางมีข้อครหาการเงินทุนไม่ถูกต้อง การซื้อที่ดินโครงการนิคมอุตสาหกรรม บลูเทคซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ถูกข้อครหาว่า EA ซื้อแพงจากกลุ่มผู้บริหาร
การขายหุ้นของ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้งประเด็นการทะเลาะเบาะแว้งของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และยังมีการโยงประเด็นไปถึงบริษัทที่ถือหุ้นและมีราคาหุ้นร้อนแรงไม่แพ้กัน ทั้ง บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX และ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD
ทั้งหมดทาง EA ได้ออกมาชี้แจงเป็นการจงใจที่มีกลุ่มคน ” เจตนาให้นักลงทุนเข้าใจผิด” ต่อผู้บริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูล และจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาเพื่อเกิดความเสียหายแก่บริษัทในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และต่อผู้ลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากในด้านการลงทุน
ข่าวลือหรือข้อมูลเท็จในรอบนี้ถือว่าหนักพอๆกับ ช่วงเดือนมี.ค. ปี 2561 ที่หุ้น EA เจอปฎิบัติการ “ไล่เทขายหุ้น “ กันกระหน่ำจากราคาหุ้นในช่วงดังกล่าว จากราคาหุ้นแตะ 70 บาท (22 มี.ค.61) ร่วงลงมาลึกที่ 30.80 บาท (11 เม.ย. 61)
พบว่ากลุ่มผู้ที่ขายหุ้นออกมาจำนวนคือ กองทุนหุ้นระยะยาวของ บลจ.สองแห่ง โดยแห่งที่ 1 ขายออกมากว่า 32 ล้านหุ้น และแห่งที่ 2 ขายออกมาอีกกว่า 9.7 ล้านหุ้น และยังมีการขายชอร์ต เซลอีกจำนวนรวมกว่า 48.9 ล้านหุ้น โดยเฉพาะจากบุคคลธรรมดา 2 รายที่มีจำนวนหุ้นสูงถึง 12 ล้านหุ้นทำให้เกิดแพนิคขายหุ้นตามมา
ขณะนั้นทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวปมประเด็นดังกล่าว เพราะมีทั้งทั้งขายหุ้นทิ้งของ “สมโภชน์ อาหุนัย” จากปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง มีคดีฟ้องร้องกัน ทุจริตฉ้อโกงหอบเงินหนีไปทางไต้หวัน ผู้บริหารถูกยิง บริษัทมีปัญหาการเงินจนอาจจะเพิ่มทุน ผลประกอบการปี 2560 ต่ำกว่าที่คาดและจะแย่ลงอีกเพราะจะมีค่าใช้จ่าย R&D ธุรกิจใหม่ (แบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า) ทำไม่ได้จริง พื้นที่ที่จะทำโรงงานติดปัญหาเป็นพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงโบรกเกอร์ออกบทวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายลดลง
รวมไปถึง ปี 2562 เจอปัจจัยลบอีกระลอกว่าดีลจองรถแท๊กซี่ไฟฟ้ากว่า 3,500 คันล่ม ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนา เพื่อจองสิทธิ์ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) และอะไหล่ จำนวน 3,500 คัน โดยสหกรณ์ฯ นี้เป็นกลุ่มผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ซึ่งจะนำรถยนต์ไฟฟ้าไปจดทะเบียนแท็กซี่และขายให้สมาชิกของสหกรณ์ฯ รวมถึงการใช้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าในกลุ่ม EV ที่ชื่อว่า EA Anywhere ทำให้ราคาหุ้นร่วงเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันราคาหุ้น EAเจอผลกระทบดังกล่าวหากในเชิงพื้นฐาน สามารถพิสูจณ์และฝ่ากระแสข่าวลบต่อธุรกิจมาได้หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่บุกเบิกโรงไฟฟ้าจนมาถึงธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากการลงทุนเน้นระยะสั้นปัจจัยข่าวลือย่อมส่งผลกระทบต่อนักลงทุน แต่หากมองการลงทุนระยะยาวราคาหุ้นสามารถขึ้นมาจากหลัก 10 บาทในช่วงเข้าตลาดหุ้นมาถึง 100 บาทน่าจะเป็นการให้ความขัดเจนถึงแนวโน้มธุรกิจ EA ได้ดี