EA ทุ่มกว่า 2 พันล้าน ลุยติดตั้งสถานีชาร์จอีวี เสิร์ฟรถบัสสาธารณะ
EA ผนึก MEA-JR ทุ่มกว่า 2 พันล้าน ลุยติดตั้งสถานีชาร์จอีวี DC Ultra-Fast Charge เสิร์ฟสถานีบริการรถบัสราว 2,000 หัวชาร์จทั่วไทย เพิ่มความคล่องตัวในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ดันเป้าหมายรัฐผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN) ซึ่งบริษัทย่อย ของ EA ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้านครหลวง และบริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JR ในโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Smart Charging Station)
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น จึงได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging Station) ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดย กฟน. จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และ JR จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินโครงการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทร่วมกับ EMN
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน EA Anywhere มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 430 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,800 หัวชาร์จ ตั้งแต่ระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็ว และทันสมัยที่สุด หรือ DC Ultra-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการด้วยแอปพลิเคชั่น EA Anywhere สามารถดำเนินการทั้ง จอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 33,000 ครั้ง
"ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 พร้อมนโยบายสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สาธารณะกระจายทั่วประเทศ เบื้องต้นปีนี้จะลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อลุยติดตั้งทั่วประเทศราว 2,000 หัวจ่าย” " นายสมโภชน์ กล่าว
นายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู.ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) (JR) กล่าวว่า JR จะเป็นผู้ออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบส่ง และโครงข่ายไฟฟ้า พัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ EAในการหาสถานที่ติดตั้งสถานีอัดจุไฟฟ้าที่หมาะสม ทั้งขนาด จำนวนและสถานที่ติดตั้งสำหรับโครงการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถอีวีในประเทศไทย
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน.อยู่ในบริบทกลไกรัฐสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รัฐจะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ 30@30 โดยเป็นผู้ใช้อีวีจำนวน 30% ในปี 2030 ส่งเสริมขยายอุตสาหกรรมต่างๆ กฟน.มีหน้าที่จ่ายไฟฟ้า สร้างอินฟาซัคเจอร์ โดยรัฐตั้งเป้ามีสถานีชาร์จอีวีปี 2030 ที่ 1.2 หมื่นสถานี จากปัจจุบันมีหลัก 1 พันกว่าสถานี ทั้งนี้ ปัจจุบันกฟน.เริ่มมีสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสินปีที่ 100 สถานี และขยายปีต่อไป 100 สถานี ในระยะเวลาอีก 4ปีรวมกว่า 500 สถานี