“อาคม”เผยแบงก์รัฐหนี้พุ่ง สั่ง 5 แบงก์รัฐเร่งแก้
“อาคม”สั่ง 5 แบงก์รัฐร่วมแก้หนี้เสีย หลังพบตัวเลขหนี้เสียพุ่ง โดยเฉพาะออมสินและธ.ก.ส. แนะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมปล่อยกู้ลงทุนใหม่และนำรายได้ชำระหนี้เก่า เพื่อดึงให้หนี้เสียกลับมาเป็นหนี้ปกติ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงการแก้หนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ปี 65 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครั้วเรือนว่า ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้ 5 แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ ธนาคารอิสลาม เข้าไปดูแลลูกหนี้ของตนเอง โดยให้ดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติให้ได้
เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาแบงก์รัฐ ได้มีการดำเนินมาตการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียอาจจะอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้น โดยออมสิน และ ธ.ก.ส. มีหนี้เสียมากที่สุด เพราะได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนมาก แต่หากเป็นผลจากนโยบายของรัฐ ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะชดเชยให้
“ในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐ เมื่อดำเนินมาตรการที่เป็นนโยบายรัฐ ก็จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่หนี้เสียบางส่วนหากอยู่ในโครงการรัฐ รัฐก็จะชดเชยให้ และคงไม่ปล่อยให้แบงก์รัฐดำเนินมาตรการจนหมดตัว เพราะแบงก์เองก็ต้องมีการกันสำรองไว้ตามกฎของแบงก์ชาติ และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่บทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนจะมีมากกว่า และยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น แบงก์รัฐต้องออกแรงมากกว่านี้”
เขากล่าวด้วยว่า การดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้กลับมาเป็นหนี้ปกตินั้น ถ้าทำกันจริง จะสามารถดึงให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ เช่น ดึงเข้ามาสู่มาตรการพักหนี้ และหาโครงการที่ทำให้เกิดรายได้ หรือมีค่าตอบแทน หรือ มีผลกำไร เพื่อนำเงินที่เกิดขึ้นมาชำระหนี้เก่า ส่วนหนี้ใหม่พักไว้ก่อน โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ที่ชัดเจน
เขายกตัวอย่าง ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เป็นหนี้เสียประมาณ 10 ล้านราย ก็ให้ดึงกลับมาเข้าโครงการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และทำให้มีรายได้เพิ่ม ด้วยการปล่อยกู้เพื่อเป็นทุนในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผักหรือพืชเสริม เมื่อขายได้ ก็ให้หักกำไร 50% มาใช้ในการชำระหนี้เดิม ส่วนหนี้ใหม่ที่กู้ไปก็ให้พักไว้ก่อน ยังไม่ต้องเริ่มผ่อนชำระคืน ทั้งนี้ ยอมรับว่าการทำแบบนี้อาจเป็นการทำให้มีหนี้พอกขึ้นมา แต่หากไม่ทำก็จะไม่มีทุนที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาเช่นกัน
“จะบอกว่าการทำแบบนี้ จะไม่ทำให้หนี้เสียเกิดขึ้นเลย คงไม่ใช่ แต่แบงก์รัฐ ทั้งออมสิน และ ธ.ก.ส. ก็ต้องรู้จักลูกค้าของตัวเอง เช่น ธ.ก.ส. ต้องรู้จักแต่ละบ้านว่า มีหนี้เท่าไหร่มีปัญหาตรงไหน และทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งแบงก์รัฐทำได้เลย”
เขากล่าวว่า ที่ผ่านมา เราอาจจะคิดแต่เรื่องของการกู้เงิน แต่ไม่ได้คิดเรื่องของแหล่งรายได้ที่ต้องมีมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเงินเดือน หรือค่าจ้าง ซึ่งบางคนอาจต้องทำงานเพิ่มมากกว่า 1 งาน หรือแม้แต่เกษตรกร ที่ต้องปลูกพืชเสริม นอกจากพืชหลัก เช่น เกษตรกรที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ รายได้ที่เข้ามาก็จบ ทำให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงต้องปลูกพืชเสริม เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ จะพบว่า เกษตรกรมีการรวมกลุ่มจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และบางแห่งมีการตั้งสถาบันการเงินชุมชน โดยการรวมเอาหนี้เสียนอกระบบของสมาชิกเข้ามาเป็นหนี้ของสถาบันการเงินชุมชน และมีการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินชุมชนแทน ซึ่งดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และยังมีการจ้างงานในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้สามารถชำระหนี้ได้ ก็ถือเป็นการรวมมือกันของชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก