คลังคาดงบดูแลคนชราพุ่ง1ล้านล้านในปี76

คลังคาดงบดูแลคนชราพุ่ง1ล้านล้านในปี76

คลังเผยปี 64 รัฐใช้งบดูแลผู้สูงอายุ 7.5 แสนล้านบาท หรือ 4.43%ของจีดีพี เพิ่มขึ้นเท่าตัวเทียบกับปี 56 คาดปี 76 เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดจะใช้งบถึง 1 ล้านล้านบาท แนะ 3 แนวทางลดภาระการคลัง คือ สร้างระบบออมเพื่อชราภาพ ปฏิรูประบบแรงงาน และ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ที่เป็นผลมาจากอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง โดยประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) หรือการมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี 2548

โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน หรือ คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2565 และคาดว่า จะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2576

สำหรับภาระทางการคลังในการดูแลผู้สูงอายุนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากร จำนวนวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มหลัก มีแนวโน้มลดลง ทำให้รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ได้ลดลง ขณะที่ ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุมีมากขึ้น จากอัตราส่วนงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุต่อจีดีพี พบว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ จากปี 2556 ที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านบาท หรือ 3.35% ของจีดีพี เพิ่มเป็นประมาณ 7.5 แสนล้านบาทหรือ 4.43% ของจีดีพี ในปี 2564 ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณรายจ่ายด้านบำเหน็จบำนาญประมาณ 5.2 แสนล้านบาท หรือ 3.04% ของจีดีพี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุและรายจ่ายด้านบำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงบประมาณดังกล่าว อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านบาทเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด

สำหรับแนวนโยบายในการดูแลให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระทางการคลังในอนาคตนั้น เขากล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้มีมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)

การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร การเตรียมความพร้อมทางการเงินของประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างพอเพียง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แนวนโยบายในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ

1.ต้องสร้างระบบการออมและหลักประกันเพื่อการชราภาพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้หลัง เกษียณที่เพียงพอและยั่งยืน

2.ปฏิรูปตลาดแรงงาน เพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง และส่งเสริมให้ประชากรวัยเกษียณได้ทำงานต่อเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพ

3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการ ตรวจสอบ และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้ง การปฏิรูประบบภาษีให้มีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับการออมและหลักประกันเพื่อการชราภาพนั้น ภาครัฐจะต้องจัดให้มีระบบการออมที่ครอบคลุมประชากรวัยแรงงานทุกกลุ่ม โดยได้นำแนวคิดระบบบำนาญแบบหลายเสาหลัก (Multi – Pillar Pension System) ของธนาคารโลกมาปรับใช้ ส่งผลให้ระบบบำเหน็จบำนาญของไทยในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ

อาทิ สวัสดิการด้านการชราภาพที่รัฐบาลเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว เช่น เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ และการออมเพื่อการเกษียณอายุที่ให้ประชาชนวัยแรงงานมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณของตนทั้งที่เป็นการออมภาคบังคับ เช่น กองทุนประกันสังคมมาตรา 33 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น และ การออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนประกันสังคมมาตรา 40 กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้สนับสนุนให้มีการออมภาคสมัครใจเพิ่มเติมสำหรับบุคคลทั่วไป โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) กองทุนรวมเพื่อ การออม (Super Savings Fund: SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ กระทรวงการคลัง โดย สศค.อยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญ แห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบเพิ่มเติม โดยเป็นระบบการออมที่มีการกำหนดการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุน (Defined Contribution) เพื่อให้แรงงานในระบบส่วนใหญ่ ได้มีการออมเพื่อการเกษียณอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีรายได้หลังเกษียณไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการดำรงชีพ

ในด้านความยั่งยืนนั้น เนื่องจาก งบประมาณด้านผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน โดยยังไม่มีผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายในภาพรวม รวมทั้ง ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลกลางด้านบำเหน็จบำนาญที่จะใช้จัดทำนโยบายในภาพรวม

กระทรวงการคลัง โดยสศค.อยู่ระหว่างผลักดันร่าง พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... เพื่อให้มีคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่จัดทำนโยบายของระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมให้สอดคล้องกัน ประสานนโยบายกองทุนการออมเพื่อการชราภาพทุก หน่วยงาน

รวมทั้ง การจัดทำฐานข้อมูลกลางสำหรับด้านบำเหน็จบำนาญซึ่งจะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน พัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมผู้พ้น วัยทำงานทั้งหมด ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นธรรม เกิดความมั่นคง และยั่งยืน ซึ่งจะช่วยรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 อนุมัติหลักการร่าง พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ขณะนี้ อยู่ระหว่าง การตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา