เคล็ดลับ "เลือกอาหารสูงวัย" เหมาะสมเป็นยา-สุขภาพดี
13 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และในปี 2565 ประเทศไทยถือว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20
สวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลงปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เป็น “ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพที่ดี” ได้นั้นต้องกินดี นอนดี สุขภาพจิตดี ออกกำลังกาย รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายสุขภาพลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า งดรับประทานอาหารที่มันเกินไป เผ็ดเกินไป เค็มเกินไป และหวานเกินไป
- สูงวัยร่างกายต้องการผัก-ผลไม้ลดลง
จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 ปี 2562 - 2563 โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโรคที่สามารถตรวจวัดพื้นฐาน ครอบคลุม ทั้งในวัยทำงาน และผู้สูงอายุ พบว่าผลการสำรวจเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 5 ในปี 2557
พบว่าความชุกของภาวะอ้วน (BMI≥25 kg/m2 ) มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในผู้หญิงความชุกเพิ่มจากร้อยละ 41.8 เป็นร้อยละ 46.4 ส่วนในผู้ชายเพิ่มจากร้อยละ 32.9 เป็น ร้อยละ 37.8
ขณะที่ภาวะอ้วนลงพุงมีความชุกเพิ่มขึ้นเฉพาะในเพศชาย โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.0 เป็นร้อยละ 27.7 ส่วนผู้หญิงค่อนข้างคงเดิม
อีกทั้ง ผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งกินผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอต่อวันลดลง (400 กรัมหรือ 5 ส่วนต่อวัน) พบว่าผู้สูงอายุ 60-69 ปี กินผักและผลไม้ในปริมาณ ที่เพียงพอ ร้อยละ 24.2 ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 70-79 ปี ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 17.7 และกินลดลงต่ำสุดในผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 11.4
รวมทั้ง ยังกินเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และนมน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้ได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี เป็นผลให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารและภาวะโลหิตจางเพิ่มขึ้น
- อาหารทางการแพทย์เหมาะวัยผู้สูงอายุ
“ชลัท ศานติวรางคณา” ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสถาบันโภชนาการได้มีการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งอาหารทางการแพทย์ในที่นี้ ไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม แต่เป็นอาหารที่เป็นไปตามโภชนาการเหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “พัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารปั่นผสมชนิด UHT”
เพื่อให้ได้อาหารปั่นที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ ผู้ที่รับประทานจะรู้สึกถึงการรับประทานอาหารจริง และยังได้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพราะมีสารอาหาร วิตามินแร่ธาตุ และรสชาติอร่อย
“สูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารปั่นผสมชนิด UHT ที่มหาวิทยาลัยถือเป็นสร้างความมั่นทางด้านอาหารและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ตลาดอาหารทางการแพทย์มีการเติบโตทุกปี โดยเติบโตเกิน 20% ซึ่งหากประเทศไทยผลิตอาหารทางการแพทย์ได้เองก็จะลดนำเข้า และเพิ่มมูลค่าทางตลาดให้แก่ประเทศไทย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ”ชลัท กล่าว
- “บีมูนเจล”เยลลี่ช่วยสูงวัยมีปัญหากลืน
นอกจากปัญหาโรคภัยต่างๆ ในผู้สูงอายุแล้ว ภาวะของร่างกายที่เปลี่ยนไป แม้แต่การกลืนน้ำหรืออาหารยังยากลำบาก และสำลักง่าย (Dysphagia) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในการกลืน ทำให้กลืนสิ่งต่างๆ ได้ยากลำบาก
เมื่อไม่สามารถกลืนอาหารได้ อาจเกิดอันตรายหลายประการจากสภาวะทุพโภชนาการ ขาดน้ำ และสารอาหาร ติดเชื้อของปอดและทางเดินหายใจ และอาจอันตรายถึงชีวิตหากขาดการดูแลที่ดีพอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พบได้ในผู้สูงอายุ
“เดือนเพ็ญ ธาราธิติคุณ” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในทีมนักวิจัยคิดค้น “บีมูนเจล” เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาการกลืน อธิบายว่า บีมูนเจล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจาก บีมูนเวล เครื่องดื่มแทนมื้ออาหารที่เน้นด้านการกระตุ้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามสภาวะร่างกายและโรคที่แตกต่างไปของแต่ละคน
โดย บีมูนเจล ในรูปแบบเยลลี่ขนาดถ้วยไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป 1 ถ้วย ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี่ มีให้เลือก 4 รสชาติ ซึ่งในช่วงแรกจะผลิตรสช็อคโกแลตก่อน เนื่องจากเป็นรสชาติที่สามารถทานได้ทั่วไป
ทั้งนี้สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อโดยการพาสเจอร์ไรซ์ สามารถเก็บได้ราว 3 เดือนในตู้เย็น ซึ่งในอนาคตหากสินค้าสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดี วางแผนว่าจะพัฒนาให้สามารถเก็บได้ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อให้การเก็บรักษาง่ายขึ้นและนานขึ้น พร้อมพัฒนาต่อยอดไปในแบบ Ultra High Temperature (U.H.T) ซึ่งสามารถเก็บได้ 1 ปี ในอุณหภูมิปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถซื้อไว้จำนวนมากได้
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บีมูนเจล ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ และให้คำปรึกษา ออกแบบประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องจักรอีกด้วย
- 12เทคนิคจัดอาหารผู้สูงวัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมตามวัยและ มีความรอบรู้ด้านโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำ 12 เทคนิคจัดอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้
1) จัดอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม โดยจัดให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม
2) เลือกข้าวไม่ขัดสีเป็นหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน วุ้นเส้น เป็นต้น
3) เลือกปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง มาปรุงประกอบอาหารเป็นประจำ
4) จัดเมนูผักให้มีความหลากหลายสี และสลับชนิดกันไป
5) จัดผลไม้รสไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน ประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ)
6) จัดนมรสจืด วันละ 1-2 แก้ว และจัดอาหารแหล่งแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง
7) หั่นอาหารเป็นชิ้นขนาดเล็ก ทำให้อ่อนนุ่มด้วยการต้ม นึ่ง ลวก เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและย่อย
8) กรณีที่กินมื้อหลักได้ไม่เพียงพอ อาจจัดให้กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ
9) ลดการปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม ใช้สมุนไพรในการเพิ่มรสชาติ ลดหรือเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป
10) ปรุงอาหารสุกใหม่ เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ จัดเมนูผัดและแกงกะทิแต่พอควร เลี่ยงอาหารทอด
11) ให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว เลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ ในช่วงเย็นถึงค่ำ
12) งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง
การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ปัจจัยเรื่องการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์แล้ว ผู้สูงอายุต้องมีกิจกรรมทางกาย/เคลื่อนไหวร่างกาย คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัญหาการหกล้มและความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี มองโลกในแง่ดี เข้าใจและยอมรับตนเองและผู้อื่น จะช่วยให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีอย่างแท้จริง