‘วรพล’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน 10 คลัสเตอร์ จ้างงานเพิ่มล้านตำแหน่ง

‘วรพล’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน 10 คลัสเตอร์ จ้างงานเพิ่มล้านตำแหน่ง

อดีตเลขาฯ ก.ล.ต.เผยหนี้สาธารณะไทยพุ่ง 10 ล้านล้าน ระบุไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนนโยบายแจกเงินเปลี่ยนเป็นแจกงาน เพิ่มรายได้รัฐ แบบมียุทธศาสตร์ ไม่เช่นนั้นจะใช้เวลา 100 ปี กว่าจะใช้หนี้สาธารณะได้หมด แนะดัน 10 คลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมสร้างงานล้านตำแหน่ง

ผลจากโควิด-19 จนถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่เพียงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแต่ยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ประเทศไทยมีการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ในปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่เมื่อรวมกับหนี้สาธารณะที่ประเทศไทยมีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาตลอดหลายปีทำให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาทซึ่งหากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถของแรงงาน หรือความสามารถในการแข่งขันแล้วประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะชำระหนี้สาธารณะส่วนนี้ได้หมด

 “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.วลพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจการเงินการคลัง  ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

 

ไทยขาดดุลงบประมาณ 10 ล้านล้านบาท 

วรพลกล่าวว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน หากมองในเรื่องของรายได้และรายจ่ายต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยเสียสมดุลมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องมีการตั้งงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด และในปีงบประมาณ 2565 จะมีการขาดดุลงบประมาณอีก 7 แสนล้านบาท โดยมีรายจ่ายทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท ขณะที่กระทรวงการคลังมีการประมาณการการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณคือการกู้เงินมาปิดงบประมาณ

‘วรพล’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน 10 คลัสเตอร์ จ้างงานเพิ่มล้านตำแหน่ง
 

ประเทศไทยมีการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 มีการกู้เงินมาใช้รับมือกับวิกฤติวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลงบประมาณที่สะสมทำให้ระดับหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจะใกล้กับระดับ 10 ล้านล้านบาท

ใช้หนี้ 100 ปีอาจไม่หมด 

ขณะที่ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้ของรัฐบาลนั้นมีข้อจำกัดและขึ้นกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหากสามารถจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายได้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทแล้วรัฐบาลนำไปใช้ชำระคืนเงินต้นก็จะต้องใช้เวลาถึง 100 ปีกว่าจะใช้หนี้สาธารณะส่วนนี้ได้หมด โดยยังไม่รวมกับภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่าย

 ขณะเดียวกันหากมองในแง่งบประมาณประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณอย่างมาก เนื่องจากสัดส่วน 75% ของวงเงินงบประมาณในแต่ละปีเป็นงบประมาณประจำ โดยมีงบประมาณในการลงทุนประมาณปีละ 20% หรือประมาณ 6 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการลงทุนแต่ละปีเท่านั้น ดังนั้นการที่จะเพิ่มโอกาสการพัฒนาประเทศต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่การสร้างการเติบโตในอนาคตต้องใช้โมเดลและยุทธศาสตร์ใหม่ในการยกระดับและปรับโครสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

วรพลกล่าวว่าหัวใจสำคัญของประเทศไทยคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้คนของเราเก่ง และมีความสามารถมากขึ้น โดยเพิ่มความสามารถของแรงงานและใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มผลิตภาพการผลิต รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และสามารถนำรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นไปจ่ายหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยรูปแบบและวิธีแบบเดิม

 

แนะรัฐเลิก "แจกเงิน" มา "แจกงาน"

“จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแรงงานในประเทศให้เก่งขึ้นต้องมาจากความตั้งใจของรัฐบาลในการพัฒนาคนโดยแนวทางที่สำคัญคือต้องเลิกแจกเงิน มาเป็นการแจกงาน และหาทางพัฒนาทักษะของแรงงานให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มทักษะที่จำเป็นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้”

 

‘วรพล’ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน 10 คลัสเตอร์ จ้างงานเพิ่มล้านตำแหน่ง

สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง รายได้หมุนเวียน 6 แสนล้าน

สิ่งที่ต้องทำก็คือการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานในประเทศโดยสร้างให้แรงงานของเราเก่งขึ้น มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งทำได้โดยการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ 

1.เกษตรสมัยใหม่และการแปรรูปอาหาร 

2.เชื้อเพลิงชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ 

3.ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการแพทย์ครบวงจร 

4.หุ่นยนต์ 

5.ยานยนต์สมัยใหม่ 

6.การบิน และโลจิสติกส์ 

7.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และ AI 

8.ดิจิทัล 

9.ท่องเที่ยวมูลค่าสูง 

และ 10.อุตสาหกรรมซอฟแวร์ 

โดยแต่ละคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเหล่านี้จะสามารถจ้างงานได้คลัสเตอร์ละอย่างน้อย 1 แสนตำแหน่ง รวม 10 คลัสเตอร์สามารถจ้างงานได้กว่า 1 ล้านตำแหน่ง 

ทั้งนี้ตำแหน่งงานที่จะมีการจ้างงานถือว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง มีค่าตอบแทนที่สูงเฉลี่ยประมาณปีละ 5 แสนบาทต่อคน หรือว่าเท่ากับมีค่าตอบแทนรวมกัน 5 แสนล้านบาทต่อปี และเมื่อมีการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้รัฐจะเก็บรายได้ได้อีก 1 แสนล้านบาทจากภาษี ทำให้รวมแล้วรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท 

"การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจถือว่าต้องใช้เวลา มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน และต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถเข้ามาบริหารจัดการนโยบายในเรื่องนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ" ดร.วรพล กล่าว