‘วรพล’ ชู 3 ประเด็นพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ประเทศไทยเพิ่มในอนาคต

‘วรพล’ ชู 3 ประเด็นพัฒนาเศรษฐกิจ  สร้างรายได้ประเทศไทยเพิ่มในอนาคต

อดีตเลขาฯ ก.ล.ต.แนะไทยเร่งเดินหน้า 3 ประเด็นสำคัญสร้างรายได้ประเทศในอนาคต รองรับสังคมสูงวัย รายจ่ายภาครัฐสูง ชี้ใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดึงการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนาคนให้มีทักษะอนาคต พร้อมเพิ่มเทคโนโลยีการเกษตร ลดอุปสรรคเกษตรกรสูงวัย เพิ่มรายได้เกษตร

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงสำคัญที่ต้องการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ และสร้างรายได้ของประเทศให้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีแนวโน้มจะมีภาระทางการคลังมากขึ้นในอนาคต

ดร.วลพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจการเงินการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยถดถอยลงไปมาก เมื่อรวมกับปัญหาหลายเรื่องที่สั่งสมในเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจไทยหลายด้าน เช่น หนี้สาธารณะของเราเพิ่มสูงขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจในเชิงมหภาคยังขาดนโยบายที่ช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ทั้งนี้แนวนโยบายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการและทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ของประเทศในอนาคต ใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

1.เพิ่มการลงทุนโดยดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยใช้กลไกของตลาดเงินตลาดทุนเป็นกลไกในการระดมทุนเพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณของภาครัฐ โดยกลไกในรูปแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ได้รับความสนใจของนักลงทุน รัฐบาลสามารถที่จะเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของมอเตอร์เวย์ ระบบราง สนามบิน ท่าเรือ และระบบสื่อสารในประเทศ ซึ่งการลงทุนในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ

 

เมื่อรวมกับโอกาสของประเทศไทยที่มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ในอาเซียนและใกล้กับจีนและอินเดียซึ่งมีโอกาสที่จะมีการเข้ามาลงทุนอีกมาก โดยแนวทางการดึงดูดการลงทุนที่ใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดภาระงบประมาณในการลงทุนของภาครัฐได้

2.การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต โดยทักษะสำคัญคือทักษะดิจิทัล และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ซอฟพาวเวอร์ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาทักษะอนาคต (Future Skills Fund) เพื่อให้แรงงานของประเทศมีความสามารถที่จะสร้างผลผลิตและสร้างรายได้ได้มากขึ้น โดยกองทุนในลักษณะนี้ต้องสร้างให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างเอกชน สถานศึกษา และภาครัฐเพื่อวางแผนการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต

ดร.วรพลกล่าวด้วยว่าสาขางานที่สำคัญเช่นการสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ได้อย่างน้อย 5,000 ตำแหน่งให้ได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่ง AI ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้น และคนที่ทำงานในเรื่อง AI จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยการพัฒนา AI รัฐบาลควรที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและสร้างสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Ecosystem) รวมทั้งกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาสตาร์ทอัพในสาขาดิจิทัลก็จะทำให้เกิดการจ้างงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

และ 3.การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตภาคเกษตร ควบคู่ไปกับการวางแผนการผลิตที่ใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวกำหนด โดยขณะนี้ปัญหาใหญ่ในภาคเกษตรคือการสูญเสียที่ดินในภาคเกษตรที่มากขึ้น ที่ดินในการทำการเกษตรของเกษตรกรลดลง ส่วนแรงงานภาคเกษตรขณะนี้มีอายุสูงขึ้นมาก ขณะที่ผลผลิตตกต่ำทำให้หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะมาทำภาคเกษตร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

 ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์ใช้ต้นแบบการพัฒนาการเกษตรในหลายประเทศคือเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำเกษตรอย่างจริงจังซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทำการเกษตร และการลดลงของแรงงานในภาคเกษตรได้

ตัวอย่างของประเทศหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยี และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับปรุงการผลิตในภาคการเกษตรเช่นประเทศเนเธอแลนด์ ประเทศอิสราเอล และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้เกษตรกรมีรายได้ที่สูง มีการเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าทางการเกษตรได้เช่นกันหากรัฐบาลส่งเสริมให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“สินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดนั้นสามารถนำไปต่อยอดให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ยางพารา ข้าว สามารถนำเอาไปวิจัยเพื่อเป็นยาที่ใช้กับระบบประสาทได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้อีกมาก เราไม่ควรพอใจแค่การขายข้าว ขายยางเป็นวัตถุดิบออกไปทั้งปีได้เงินมาไปจ่ายค่าน้ำมันแค่ 3 - 4 เดือนก็หมดแล้ว ทั้งที่จริงๆเราสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรที่มีวัตถุดิบอยู่ในไทยให้เป็นสินค้าคุณภาพได้” ดร.วรพล กล่าว