ปตท.ฮับผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เร่งเครื่อง “อีวี-อีบัส-มอเตอร์ไซค์”
ปตท.เปิดแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท เดินเครื่องโรงงานประกอบ “อีวี” ต้นปี67 กลางปีผลิตมอร์เตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผนึก “สกุลฏ์ซี” ประกอบรถอีบัส เร่งแอป “อีวีมี” บริการเช่ารถอีวี ดึงบิ๊กดาต้าวิเคราะห์ข้อมูลตลาด วางแผนผลิตอีวีในอนาคต มั่นใจมาตรการรัฐหนุนตลาดอีวี
มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2565 ได้ทำให้ตลาดอีวีคึกคักมากขึ้น โดยทำให้ยอดจองภายในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 43 รวมทั้งสิ้น 3,000 คัน
ช่วงต้นปี 2564 กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มขยับในเรื่องของธุรกิจอีวี เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ดี จึงเกิดแผนธุรกิจ EV Value Chain ซึ่ง ปตท.มีหลายส่วนงานที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกระจายในหลายบริษัท และนำมาสู่การตั้งบริษัท อรุณพลัส จำกัด ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มอีวีของ ปตท. โดยทำหน้าที่ประสานการลงทุนกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งร่วมลงทุนกับพันธมิตรในและต่างประเทศ
นายเอกชัย ยิ้มสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า อรุณ พลัส เกิดจากสิ่งที่ ปตท.ดำเนินธุรกิจหลากหลายผ่านบริษัทลูก อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC และ บริษัท ไออาร์พีซี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีวี คือ สมาร์ทแมททีเรียล โดยนำเอาเม็ดพาสติกมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ขณะที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผลิตแบตเตอรี่ ดังนั้น จึงร่วมจัดตั้งบริษัท บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ป้อนตลาดอีวีทั้งของไทยและภูมิภาค โดยมุ่งเป้าหมายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 5-10 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ในปี 2573
ส่วนบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ทำหน้าที่พัฒนาสถานีชาร์จ โดยมีแผนสร้างอีโคซิสเต็มใหม่สำหรับผู้ใช้อีวีในอนาคตเมื่อมีการเติมน้ำมันลดลง ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้าติดตั้งสถานีชาร์จอีวีในปั๊มน้ำมันสิ้นปี 300 สถานีชาร์จ และขยายเพิ่มเป้านี้หลังจากเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าคึกคัก
ส่วนหัวชาร์จแบรนด์ “ออน-ไอออน” ของอรุณ พลัส ได้เน้นติดตั้งหัวชาร์จเพิ่มเติมในพื้นที่โรงแรม ร้านอาหาร คอนโดมิเนียม และบ้านเรือนทั่วไป โดยลูกค้าซื้อชาร์จเจอร์ไปติดที่บ้าน โดยการพัฒนาผ่านสถาบันวิจัยของ ปตท.เอง และขณะนี้นำร่องบริการ 4 แห่ง รวม 10 หัวชาร์จ ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ 300 แห่ง กว่า 1,000 หัวชาร์จ
มั่นใจมาตรการรัฐหนุน“อีวี”
ทั้งนี้ จากองค์ประกอบต่างๆ พบว่ายังมีส่วนการผลิต Sale Marketing เพื่อไปในด้านของปลายน้ำที่ต้องโฟกัสผู้บริโภค ดังนั้นการเกิด อรุณ พลัส ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จะช่วยขยายภาพทั้ง EV Value Chain ซึ่งจะเหมือนกับคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน โดยผู้ซื้ออีวีจะดูสถานีชาร์จว่าพอหรือไม่ รวมทั้งดูว่ามีการลงทุนสถานีชาร์จเท่าไหร่ เพราะกังวลว่าลงทุนแล้วจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ ดังนั้น ปตท.จึงยกมาทั้งแวลูเชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดพร้อมกัน
“โชคดีที่รัฐบาลผลักดันจริงจังตั้งเป้าหมาย 30@30 ออกนโยบายกระตุ้นผู้ใช้และเกิดดีมานด์ เพราะราคาอีวีเมื่อเทียบรถสันดาปแพงกว่า 10-15% ดังนั้นนโยบายนี้ทำให้ราคาสู้รถสันดาปได้ พร้อมสนับสนุนค่ายรถด้านภาษีและมีเงื่อนไขผลิตในไทยใน 2 ปี”
ทั้งนี้ อรุณ พลัส มีหน้าที่แสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ และอีวีจะเป็น New S-Curve ให้ ปตท.โดยเฉพาะรายได้ ถ้าไม่ทำจะมีกระทบ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจขายน้ำมันและโรงกลั่นที่จะปิดตัวในอนาคตตามเทรนด์อีวี
รวมทั้งประเมินว่าในช่วง 2 ปี ข้างหน้า ตลาดอีวีจะคึกคัก ซึ่งรถอีวีไม่มีส่วนประกอบที่ซับซ้อน การเข้าศูนย์บริการเบื้องต้นอยู่ที่ระยะทาง 50,000 กิโลเมตร ส่วนแบตเตอรี่ประกันประมาณ 8 ปี และอาจเสื่อมสภาพลง ซึ่งต้นทุนรถ 1 คัน ไปอยู่ที่แบตเตอรี่ที่ 30-40%
“พอเห็นภาพว่าชิ้นปลามันที่ทำรายได้อยู่ในภาคผู้ผลิต เพราะรถ 1 คัน ราคาหลักล้านบาท โดยรถ 10,000 คัน ก็ 1 หมื่นล้านบาท จึงเกิดความร่วมมือกับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัดหรือฟ็อกซ์คอนน์ ที่ครบ 1 ปีที่ลงนามเพื่อสร้างฐานการผลิตรถอีวีในไทย”
ตั้งโรงงานใกล้แหลมฉบัง
ทั้งนี้ อรุณ พลัส กับฟ็อกซ์คอนน์ได้ตั้ง บริษัท ฮอริซอน พลัส จำกัด ช่วงเดือน ก.พ.2565 โดยอรุณ พลัสถือหุ้น 60% ฟ็อกซ์คอนน์ 40% เพื่อประกอบรถให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยจะไม่ทำแบรนด์แข่งกับลูกค้าและเปิดรับทุนแบรนด์ โดยการประกอบรถอีวี 1 คันในเบื้องต้นสามารถผลิตชิ้นส่วนในประเทศได้ถึง 60-70% เครื่องยนต์บางอย่างนำเข้า 20-30% อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ซึ่งฟ็อกซ์คอนน์จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์และดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุน
“ตอนนี้มีพื้นที่สร้างโรงงานในใจ 3-4 แห่ง โดยจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกด้วยงบลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ บนพื้นที่ 300-400 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อลดต้นทุนขนส่ง และรองรับตลาดส่งออกช่วงแรก ซึ่ง ปตท.มีเวลาสร้าง 18 เดือน เพื่อให้ทันผลิตต้นปี 2567 ซึ่งปลายปีนี้ลูกค้าต้องเริ่มคุยกับเราถึง สเปก ยี่ห้อ หรือแบตเตอรี่ เป็นต้น เพราะเราจะมีรายละเอียดให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการเมนูไหนบ้างก็เลือกได้เลยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน”
เริ่มผลิต“อีวี”ได้ในปี 67
รวมทั้ง มีกำหนดแล้วเสร็จและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ต้นปี 2567 กำลังการผลิตระยะแรกปีละ 50,000 คัน และขยายกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน ในปี 2573 สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ฮอริซอน พลัส จะต้องสกรีนลูกค้า เพราะเมื่อทำสัญญาให้ผลิต เช่น 20,000 คัน/ปี พอถึงเวลาแบรนด์อาจขายไม่ได้ตามเป้า อาจเกิดปัญหาจะฟ้องร้องได้ เพราะการจะผลิตเบื้องต้นต้องหลักหมื่นคัน/ปี และขณะนี้ได้หารือแล้ว 5-6 แบรนด์ ทั้ง จีน ยุโรป และแบรนด์รถในสหรัฐ
นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ขยายโอกาสทางธุรกิจ EV แบบครบวงจร อาทิ ให้บริการเช่า หรือจัดจำหน่าย EV พวงมาลัยขวารุ่นแรกของแบรนด์ Neta V ซึ่งในงานมอเตอร์โชว์ 2022 โฮซอนได้นำ Neta V และ Neta U Pro พวงมาลัยซ้ายมาโชว์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี โฮซอน มีความสนใจนโยบายรัฐ ดังนั้น ปี 2567 จะต้องผลิตรถในประเทศไทยตามจำนวนที่ขาย ซึ่งอรุณ พลัส พร้อมที่จะผลิตให้ ส่วนการทำมาร์เก็ตติ้ง อรุณ พลัส จะไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อไม่ไปบล็อกแบรนด์อื่น
ลุยแผนผลิตมอร์เตอร์ไซค์
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริการสวอพหรือสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือ Swap&Go จำนวน 22 ตู้ชาร์จทั่วกรุงเทพฯ นำร่องตีตลาดกลุ่มไรเดอร์ รับ-ส่งของเดลิเวอรี่ราว 50 คัน ถือเป็นการทดลองตลาดที่ดี
รวมทั้งกลางปี 2565 จะร่วมลงทุนผลิตมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้ากับผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ไทย อาทิ เทคโนโลยีแบตเตอรี ร่วมถึงมีการทำมาร์เกตติ้ง ผ่านศูนย์บริการ ฟิต ออโต้ ของโออาร์เป็นมัลติแบรนด์ และไม่จำกัดเฉพาะรถที่ผลิตกับอรุณ พลัส เท่านั้น
“การซ่อมบำรุงรถอีวีไม่มีความซับซ้อนและไม่เป็นอุปสรรคกับช่างในบ้านเรา ซึ่งทั้งกลุ่ม ปตท.พร้อมทรานฟอร์มเทคโนโลยี อนาคตเมื่อตลาดอีวีโต จะต้องขยายศูนย์บริการเพิ่ม”
เดินหน้าผลิตรถบัสไฟฟ้า
นอกจากนี้ อรุณ พลัส ยังเดินหน้าผลิตรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) ตัวถังผลิตจากอลูมิเนียมขึ้นรูปพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยใช้แพลตฟอร์มของฟ็อกคอนน์ที่เน้นรูปแบบอีโค่พาร์ทเนอร์ ขณะนี้ได้หารือทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทหาร หรือแม้แต่ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น มีแผนผลิตปีนี้กว่า 20 คัน เบื้องต้นจะใช้โรงงานบริษัท สกุลฏ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ประกอบ
“รถบัสที่จะบริการเห็นว่ามีการเช่ายังอยู่ระหว่างสัญญาเช่าของหน่วยงานรัฐ ดังนั้น ผู้ให้บริการเช่ารถบัสในหน่วยงานรัฐจะต้องคิดถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของรถบัสอีวี ซึ่งแพงกว่าอยู่แล้วแต่ต้องคิดค่าไฟฟ้ากับน้ำมันให้คุ้ม รวมถึงการจะลงทุนสถานีชาร์จเองหรือไม่ ตอนนี้”
“อีวีมี”แอปเช่ารถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการขับรถอีวี อรุณ พลัส จึงตั้ง บริษัท อีวีมี พลัส ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพราะกว่าจะมีรถตัวเองต้องใช้เวลา 2 ปี จึงเปิดให้เช่าใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น EVme เพื่อเป็นมาร์เก็ตเพลสสร้างธุรกิจต้นน้ำ โดยเมื่อทราบข้อมูล (Big Data) ลูกค้า อาทิ การจอง 1 สัปดาห์สูงสุด รองลงมาคือ 3 วัน ช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ เป็นกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงข้อมูลการชาร์จ เป็นต้น จะเป็นประโยชน์ต่ออรุณ พลัส ในสายการผลิต
“คนยุคใหม่ไม่อยากมีภาระ 5 ปี อยากเปลี่ยนรถเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องดูแลเรื่องประกันภัย และเสียเวลาเข้าศูนย์ซ่อม หากลูกค้าอยากซื้อจากแพลตฟอร์ม เราจะติดต่อกับแบรนด์รถให้ ปีที่แล้วก่อนเปิดให้จองเรามีรถ 100 คัน หลายยี่ห้อ ปัจจุบันมี 200 คัน ยอดจองใช้ประมาณ 80% ในแอปพลิเคชัน 80 คัน เพราะมีการเช่าใช้ระยะยาว จากบริษัทราว 5-10 คัน ถือว่าตลาดดีมาก จากเป้าสิ้นปีนี้ต้องมี 500 คัน อาจเป็นปัญหาซัพพลายช็อต ยังกังวลว่ายอดนำเข้าจะไม่ได้ตามเป้า”